การรักษารูเล็ก เจ็บน้อย เสี่ยงน้อย ฟื้นตัวเร็ว

คนเราไม่ชอบอะไรที่เจ็บปวด ทรมานจากการรักษาโรค โดยเฉพาะเรื่องการผ่าตัดด้วยแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ก็จะพยายามเลี่ยง
แพทย์เองเข้าใจดีถึงความต้องการของคนเรา จึงมีการพัฒนาการรักษาจากแผลผ่าตัดใหญ่ๆมาเป็นแผลที่เล็กลงๆ เพราะเราทราบดีว่าการผ่าตัดใหญ่ยิ่งเพิ่มภาวะแทรกซ้อน และระยะเวลาฟื้นฟูร่างกายให้กับผู้ป่วย
สิ่่่่งเหล่านี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1950 แล้ว ต่อๆมาจนกระทั่งปัจจุบัน การรักษาผ่านรูเล็กๆได้นำมาใช้กับโรคหรือภาวะความผิดปกติมากมาย ดังจะนำเสนอเป็นบทความต่อๆไป
นับแต่มีการนำการรักษารูเล็กมาใช้ ทำให้คนเป็นจำนวนมากลดปริมาณการผ่าตัดใหญ่ลงไปได้ ตัวอย่างเช่น 
การมีฝีหนองในร่างกาย
หลอดเลือดตีบ
หลอดเลือดแตก
เนื้องอกในตับ
เนื้องอกในมดลูก
การเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่างๆ
การขยายท่อน้ำดี
ใส่หลอดสวนสำหรับผู้ป่วยล้างไต 
การรักษาเส้นเลือดขอด 
ฯลฯ
ผลการรักษาผ่านรูเจาะเล็กๆ 
ทำให้บาดแผลหายเร็ว 
ผู้ป่วยทนต่อความปวดได้ดีขึ้น 
หลีกเลี่ยงการใช้ยาสลบได้
ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา 
มีสื่อทางอินเตอร์เน็ตอธิบายแนวทางการรักษาแบบนี้ซึ่งเรียกว่า รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) อยู่มากพอสมควรซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางวิชาการ 
แต่ยุคปัจจุบัน ผู้คนมักจะดูอินเตอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์น้อยกว่าทางสมาร์ทโฟน
หมอจึงแบ่งปันประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยแบบรูเล็ก (ศัพท์ไม่เป็นทางการ) ให้สามารถดูได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสื่อยุคใหม่ที่พกพาสะดวกแต่ขนาดเล็ก พยายามใช้ตัวหนังสือให้น้อยเพื่อหวังให้ประชาชนคนไทย ได้ทราบทั่วกันและเตรียมพร้อมสำหรับแนวโน้มการดูแลแบบรูเล็กต่อไป
ขอความร่วมมือให้พวกเราทุกๆคนที่ได้เข้ามาอ่านบทความในบล็อกของหมอ กระจายความรู้ไปยังวงกว้างเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคนครับ โดยการลงคอมเมนท์ด้านล่าง
กด facebook like 
หรือส่งลิงค์ไปยังคนรู้จักอื่นๆเป็นการบอกต่อและ
สอบถามประเด็นต่างๆเพื่อให้หมอปรับปรุงเนื้อหา เพราะบางครั้งผู้เล่าก็ไม่ทราบว่าผู้อ่านยังอยากทราบตรงไหนเพิ่มเติม

แด่ความสุขของคนไทยทุกคน


นพ.รัฐวัชร์ อริยรัฐรังสี


กลับ หน้า สารบัญบทความ

Link พัฒนาตนเอง

1. แนวทางพัฒนาการคิด
2. กด like ให้drrattawach fanpage

สารบัญบทความ


เกริ่นนำ


อัลตร้าซาวด์

คอ
เต้านม


อก


แขน


ช่องท้อง


  • ลำไส้ใหญ่


  • มดลูก

ขา

หลอดเลือด
กล้ามเนื้อ,เอ็น,ข้อต่อ

บทความพิเศษ





การชะลอและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)


รักษาข้อเข่าเสื่อมแต่เนิ่นๆดีกว่า หากคุณอยู่ระยอง มาที่บีอาร์เอ็กซ์จีสหคลินิก โทร. 033060399 อ่านข้อมูลข้อเข่าเสื่อมด้านล่างได้เลย
รู้ได้อย่างไร ว่าอาการปวดเข่าเป็นจากโรคข้อเข่าเสื่อม?

อาการของข้อเข่าเสื่อมจะต้องค่อยๆปวดจากน้อยไปหามากใช้เวลาหลายๆปี 

อาการระยะต้น 

ผู้ป่วยจะยังไม่ปวดเข่า อาจพบเสียงดังขณะขยับเข่า หรือเวลาพักนานๆหรือหลังตื่นนอนเข่าจะฝืด  เคลื่อนไหวลำบาก แต่พอได้ขยับสักครู่ก็จะเดินได้ปกติ 

อาการระยะกลาง 

อาการปวดจะเริ่มชัดเจนขึ้น อาจปวดทุกวันแต่ไม่รุนแรง บางครั้งต้องใช้ยาแก้ปวด หรืออุปกรณ์สนับเข่าช่วยบรรเทาอาการ

ระยะรุนแรง 
อาการปวดมากและสม่ำเสมอ ผู้ป่วยเดินได้น้อยลงจากปกติ เพราะรู้สึกปวดจนไม่อยากเดินต่อหรือกลัวล้ม ไม่สามารถนั่งคุกเข่า หรือนั่งกับพื้นท่าอื่นๆ ได้ มีความผิดรูปของข้อเข่า เช่น เข่าโก่ง

พยาธิสภาพของโรคของเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร?
การเสื่อมของข้อเข่าเป็นไปตามวัยอยู่แล้ว หากแต่ถ้ามีการบาดเจ็บ ใช้งานหนัก การเสื่อมก็เกิดเร็วกว่าปกติ
เริ่มแรกการเสื่อมจะเกิดที่ชั้นผิวสัมผัสของข้อซึ่งเป็น กระดูกอ่อน โดยกระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกแข็งเริ่มบางลงและแตกร้าวดังรูป
ข้อเข่าขวาปกติ: กระดูกอ่อน (สีฟ้า) เรียบ หมอนรองกระดูก (สีชมพู)เรียบ
 กระดูกระหว่างข้อ (สีน้ำตาล) ปกติ

ข้อเข่าขวาเสื่อมระยะแรก: หมอนรองกระดูกบาง กระดูกอ่อนเริ่มมีรอยแตกร้าว เริ่มมีกระดูกงอก


ข้อเข่าขวาเสื่อมระยะกลาง หมอนรองกระดูกบาง แตก กระดูกอ่อนมีรอยแตกมากขึ้น ช่องว่างระกว่างกระดูกเข่าแคบลง กระดูกงอกเพิ่มขึ้น มีซิสต์เกิดขึ้นในกระดูก
ข้อเข่าขวาเสื่อมมาก: หมอนรองข้อเข่าสลายเกือบหมด กระดูกอ่อนถูกทำลายมากทำให้ข้อเข่าแคบมากขึ้นจนเกือบจะเชื่อมต่อกัน กระดูกงอกเกิดขึ้นมาก เกิดซิสต์ในกระดูกมากขึ้น

การยืนยันวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อม
  • อาศัยอาการ การตรวจร่างกายและภาพถ่ายเอกซเรย์
    ภาพถ่ายรังสีข้อเข่าข้างขวา: ภาพ A แสดงข้อเข่าปกติ จุดที่เป็นช่องว่างระหว่างข้อต่อกระดูกเป็นส่วนของกระดูกอ่อนเห็นเป็นช่องว่างสีเทาดำ (ลูกศรสีฟ้า) กระดูกผิวเรียบ ไม่มีกระดูกงอก ภาพ B ช่องว่างระหว่างกระดูกแคบ (ูลูกศรสีน้ำตาล และขอบกระดูกมีสีขาวทึบเข้มและผิวกระดูกขรุขระแสดงถึงบริเวณกระดูกงอก (ลูกศรสีแดง)

การรักษาข้อเข่าเสื่อมระยะที่ยังไม่ต้องผ่าตัด
การดูแลทั่วไป
  • ลดน้ำหนัก
  • บริหารกล้ามเนื้อ (ดูคลิปนี้ ยืดเหยียดน่อง ลดอาการปวดเข่า
  • ออกกำลังกาย แนะนำ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายที่ควรหลีกเลี่ยง คือ วิ่ง สควอต แบตมินตัน เทนนิส 
การแก้อาการปวด
  • ประคบความเย็น
  • รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล เป็นยาเหมาะสม 
  • ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยาชนิดรับประทานในคนสูงอายุ อาจมีผลเสียต่อการทำงานของไตและระคายเคืองทางเดินอาหาร หากใช้ยากลุ่มนี้ควรใช้ในรูปแบบทาภายนอกจะปลอดภัยกว่า
  • การรับประทาน กลูโคซามีน (ยังให้ผลไม่แน่ชัด)
  • การฉีด สเตอรอย์เข้าข้อเข่า ให้ผลบรรเทาปวดในระยะสั้น 
  • การฉีดน้ำไขข้อเทียมเข้าข้อเข่า (Hyaluronic acid) พบว่าช่วยลดการปวดและเพิ่มการทำงานข้อเข่าได้ดีนานถึงหกเดือน
การเลือกวิธีการบรรเทาปวดใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจะดีที่สุด ไม่ควรเลือกเองซึ่งอาจส่งผลให้ไม่ได้ผลแล้วอาจได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาได้

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง

  • อุปกรณ์ดามเข่า (Knee brace)
  • ไม้เท้า (cane)
  • Walker

เข่าเสื่อมมากแค่ไหน ถึงต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

จากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่าอาการเข่าเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ ซึ่งมักพบได้ตั้งแต่คนวัย 60 ปี ขึ้นไป  โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาเข่าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด ได้แก่

  • ปวดมาก หรือปวดตลอด จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ และบางรายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้

  • เดินลำบากจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ หรือช่วยประคองเดิน ไม่เช่นนั้นอาจหกล้มได้

ในขณะเดียวกันมีผู้ป่วยเข่าเสื่อมจำนวนหนึ่งซึ่งแม้ไม่มีอาการปวดรุนแรง แต่ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องการได้โดยสะดวก เช่น เล่นกีฬา ท่องเที่ยว ซึ่งบางคนอาจเลือกการผ่าตัดรักษาเพื่อให้กลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม

การผ่าตัด มีเทคนิคการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมหลายแบบและอุปกรณ์เข่าเทียมก็ออกแบบมาหลายรูปแบบมาก แต่ก็มีหลักการทั่วไปดังภาพ

ภาพข้อเข่าเทียม

สรุป

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคความเสื่อมซึ่งต้องค่อยๆเกิดขึ้นตามวัยที่สูงขึ้น แต่ใครจะชะลอการเสื่อมของข้อเข่าให้อยู่นานที่สุดได้ จำเป็นต้องทราบวิธีถนอมข้อเข่า และหากเข่าเริ่มเสื่อมแล้วจะต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเริ่มการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์ให้เข่าเสื่อมช้าลง เพราะหากปล่อยให้เข่าเสื่อมมากจนปวดตลอดเวลาแล้ว อาจจะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัด



กลับสู่สารบัญบทความ

รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ จากออฟฟิศซินโดรม อย่างไหนดี?

ภาพแสดงการปวดกล้ามเนื้อสะบักข้างซ้าย

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ อะไร?

  • ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) หรือ ไมโอฟาสเชียลเพนซินโดรม (Myofascial pain syndrome) คือ กลุ่มโรคของอาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่เป็นผลมาจากจุดกระตุ้น (Trigger point) ที่อยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด
  • พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 30-60 ปี
จุดกระตุ้น หรือ Trigger point คืออะไร?

ภาพแสดงจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) รูปซ้าย: Trigger point (สีเขียว) ในกล้ามเนื้อ ขวา: ภาพขยายลำกล้ามเนื้อที่มีจุดคลำได้แข็งๆภายใน เรียกว่า ทอทแบนด์ (taut band) เมื่อขยายภายในลำทอทแบนด์ จะเห็นใยกล้ามเนื้อบางจุดที่หดเกร็งตลอดเวลาโดยไม่คลายตัวปะปนอยู่กับใยกล้ามเนื้อปกติ

  • เป็นจุดกดเจ็บบนลำกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อซ้ำๆที่ตำแหน่งเดิม จุดนี้บนลำกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้หดเกร็งซ้ำๆตลอดเวลา สังเกตได้ว่าคลำเป็นก้อนแข็งๆ เรียกว่า ทอทแบนด์ (taut band) ถ้าขยายส่วนนี้ออกมาก็จะเห็นใยกล้ามเนื้อบางจุดหดเกร็งเป็นปมตลอดเวลา ซึ่ง taut band นี้จะเป็นจุดที่ถูกกดสามารถกระจายความเจ็บไปเป็นบริเวณกว้างได้

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม คือ อะไร?


  • อะไรก็ตามทำให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำๆเป็นเวลานานๆ เช่น คนที่ทำงานอยู่ท่าเดิมนานๆ หรือเคยชินกับท่าทางบางอย่างที่เกร็งกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ต่อเนื่อง มีโอกาสกระตุ้นให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้
ลักษณะการปวดของออฟฟิศซินโดรม เป็นอย่างไร?
  • จะมีบริเวณที่เจ็บบริเวณกว้างตามตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซึ่งจะมีจุดกระตุ้นหนึ่งแห่งที่เป็นจุดที่กดแล้วจะปวดร้าวไปบริเวณกว้าง และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ผิวหนังเย็นซีด น้ำตาไหล คัดจมูก ขนลุก เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หูอื้อ
  • ตัวอย่างตำแหน่งออฟฟิศซินโดรมจุดกำเนิดที่คอ แล้วปวดร้าวไปยังศีรษะ ดังรูป

ภาพแสดงออฟฟิศซินโดรม ที่กล้ามเนื้อคอ ร้าวไปยังศีรษะ บริเวณกากบาทสีดำคือจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) บริเวณพ่นสีแดง แสดงบริเวณมักจะมีอาการปวดร้าวไปถึง บริเวณจุดสีแดงคือบริเวณที่ปวดร้าวทีพบน้อยกว่า
  • ตัวอย่าง trigger point บริเวณสะบักและต้นแขน
    Trigger point บริเวณสะบักและต้นแขน บริเวณกากบาทสีดำคือจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) บริเวณพ่นสีแดง แสดงบริเวณมักจะมีอาการปวดร้าวไปถึง บริเวณจุดสีแดงคือบริเวณที่ปวดร้าวที่พบน้อยกว่า
นี่คือจุดกระตุ้นการเจ็บ (Trigger points) ที่พบบ่อยๆ
ภาพจุดกระตุ้นการเจ็บ(trigger points)ที่พบบ่อย

วิธีรักษา ออฟฟิสซินโดรม
 หลักการของทุกวิธีคือ ลดปวด คลายล็อคจุดกระตุ้น (trigger point) และยืดกล้ามเนื้อ ทุกวิธีผู้ป่วยต้องกลับไปยืดกล้ามเนื้อทุกวันเหมือนกันหมด (เรียงลำดับจากค่ารักษาน้อยไปถึงมาก)
  • รับประทานยาแก้ปวด รับประทานทุกวันแล้วยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้จุดกระตุ้นที่หดตัวคลายตัววันละนิดวันละหน่อย จะเริ่มวิธีนี้ก่อนก็ได้ แต่เราไม่สามารถรับประทานยาติดต่อกันนานกว่าหนึ่งเดือนได้อาจเป็นอันตรายต่อไตหรือตับ ดังนั้นหากยังไม่หายในหนึ่งเดือน ควรมองหาวิธีต่อไป (ค่าใช้จ่าย 100-500บาท)
  • การสปรย์ยาชา ตามด้วยยืดกล้ามเนื้อ แต่ยาชามีฤทธิ์ลดปวดนานเพียงสิบนาที จึงต้องสเปรย์บ่อย การหายต้องขึ้นกับการยืดกล้ามเนื้อ (ค่าใช้จ่าย 400-600 บาท)
  • การปักเข็มเข้า trigger point เรียกว่า Dry needling โดยแพทย์ปักเข็มเข้าจุดกระตุ้น ผู้ป่วยจะเจ็บจากเข็มแทง หากเข็มเข้าไปตรงจุดกระตุ้น เข็มจะทำให้จุดกระตุ้นในกล้ามเนื้อคลายตัวได้เลย แล้วให้ผู้ป่วยออกกำลังขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นสักพัก ผู้ป่วยจะเจ็บจากรอยเข็มแทงอยู่สักสามสี่วันอาการปวดจะหายไป (1,500-2,000 บาท)
  • การฉีดยาชาเข้า trigger point โดยแพทย์ฉีดยาชาหรือผสมยาแก้อักเสบฉีดเข้าจุดกระตุ้น แล้วบริหารกล้ามเนื้อ  วิธีนี้ถ้าฉีดโดนตรงจุดกระตุ้นแล้ว อีกสามนาทีผู้ป่วยจะหายปวดร้าวทันที แสดงว่าเป็นโรคออฟฟิสซินโดรม จริง ถือเป็นการวินิจฉัยไปในตัว หลังฉีดก็ให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อแต่พอดี ไม่ต้องถึงกับยืดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยปวดจากรอยแทงเข็มเล็กน้อยอยู่สามสี่วันก็หาย (1,500-2,000 บาท) 
    การฉีดยาเข้า จุดหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

    การใช้อัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพกล้ามเนื้อที่จะฉีดยาช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดโอกาสเกิดภาวาแทรกซ้อน

  • การนวดกดจุดและยืดกล้ามเนื้อ  จะทำในรายที่กลัวเข็ม ต้องนัดนวดหลายครั้ง อาการปวดค่อยๆลดลงทีละน้อย การหายหรือไม่ก็ต้องขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ตัวผู้ป่วยเอง ตัวผู้ทำการรักษา (2,800-3,600 บาท)
  • กายภาพบำบัดและยืดกล้ามเนื้อ จะใช้เครื่องมือบำบัดอาการปวดหลายชนิด จึงลงทุนสูง ต้องนัดทำหลายๆครั้ง อาการปวดจะค่อยๆลดลงทีละน้อย  (4,000-10,000 บาท)

ทุกวิธีสามารถรักษาอาการปวดได้ผลทั้งหมด
ถ้าอยากหายปวดเร็ว ควรเลือกการปักเข็มหรือการฉีดยาเข้าจุดกระตุ้น ยิ่งปัจจุบันที่เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยนำทางให้เห็นแนวและตำแหน่งของเข็มแล้ว ยิ่งฉีดได้แม่นยำและหลีกเลี่ยงอวัยวะที่สำคัญได้ ยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วยขึ้น แถมเพิ่มโอกาสหายภายในครั้งเดียวมากขึ้น (สำหรับ Dr. Rattawach จะถนัดวิธีนี้)
ถ้ากลัวเข็ม ควรเลือกการนวดหรือกายภาพบำบัดซึ่งจะลดปวดอย่างช้าๆและยาวนานจึงมีค่ารักษาสูง
ถ้าต้องการวิธีประหยัด จะเลือกสเปรย์ยาหรือรับประทานยาก็ได้ แต่จะต้องขยันยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่แน่ใจว่าสาเหตุการปวดมาจากโรคอะไร ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนจะเลือกการรักษาจึงจะปลอดภัยสำหรับคุณ

ติดต่อ หมอรัฐวัชร์ ได้ที่ บีอาร์เอ็กซ์จีโพลีคลินิก โทร. 033060399
ตามแผนที่นี้ https://1th.me/YdWGp

ก้อนในต่อมไทรอยด์ แบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?


ภาพที่1: แผนภาพแสดงก้อนในต่อมไทรอยด์ซ้ายที่ยังเล็ก
ภาพที่ 2 ก้อนในต่อมไทรอยด์จนสังเกตเห็นจากภายนอก
หากคุณพบก้อนในต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามบางคนตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, MRI  (ภาพที่ 1)หรือคลำพบด้วยตนเอง (ภาพที่ 2) ควรจะมาให้รังสีแพทย์ตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ เพื่อจัดกลุ่มว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากแค่ไหน

บทความนี้จะให้ทราบถึงลักษณะของก้อนจากการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์แบบต่างๆและความเสี่ยงต่อมะเร็งรวมถึงการจัดการที่แพทย์จะแนะนำให้ทำต่อไปพอสังเขป เรียงลำดับจากลักษณะที่ไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์ไปจนถึงลักษณะที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ดังต่อไปนี้

ก้อนที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (ความเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 1)

ถุงน้ำ (cyst) 

มีลักษณะก้อนที่รูปร่างกลมหรือรี มีผนังบางๆทั่วทั้งก้อนภายในถุงบางนี้มีของเหลวใสอยู่ หากเอาเข็มเจาะดูดของเหลวออกมาถุงน้ำจะยุบลง แต่ภายหลังอาจจะโตขึ้นมาอีกได้
ส่วนภาพจากอัลตร้าซาวด์ จะเห็นเป็นก้อนกลมหรือรี เห็นขอบของก้อนเรียบเนียน ส่วนสีของก้อนจะเป็นสีดำทึบเป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อนแทบจะไม่มีจุดภายในเลย ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ถุงน้ำ (cyst)ในต่อมไทรอยด์ข้างซ้าย
หากพบถุงน้ำ หมอจะไม่นัดคุณมาตรวจติดตามแต่อย่างใด

ก้อนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยมากๆ (ความเสี่ยงน้อยกว่า ร้อยละ 3) 
มีอยู่ 2 ชนิด

1.ก้อนที่คล้ายฟองน้ำ (Spongiform nodule) 
ก้อนแบบนี้ดูจากอัลตร้าซาวด์มีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ลักษณะข้างในก้อนมีทั้งส่วนที่เป็นสีดำสนิทและสีเทาปนๆกันเหมือนฟองน้ำ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 ก้อนในต่อมไทรอยด์ข้างซ้ายรูปร่างคล้ายฟองน้ำ สังเกตว่าก้อนต้องมีรูปร่างกลมหรือรี มีขอบเขตคมชัด เรียบ ภายในมีลักษระดำ (น้ำ)สลับเทา (เนื้อ)

2. ก้อนที่มีส่วนประกอบน้ำปนเนื้อ-ขอบเรียบ (Partial cystic with no suspicion feature)
ก้อนจะมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ส่วนประกอบภายในจะเห็นส่วนเนื้อมักจะเป็นบริเวณด้านนอกของก้อน ส่วนที่เป็นน้ำจะถูกส่วนเนื้อล้อมรอบ แต่อาจถูกเนื้อกั้นเป็นแอ่งๆได้ ดูเหมือนคล้ายฟองน้ำที่มีรูพรุนกว้างขึ้น ดังภาพที่ 5ด้านล่าง
ภาพที่ 5 ก้อนที่มีขอบเรียบมีส่วนประกอบของท้้งน้ำและเนื้อ ก้อนจะมีส่วนเนื้อล้อมรอบน้ำ สังเกตว่าขอบนอกของก้อนโค้งมนเรียบรอบด้าน ส่วนเนื้อนี้อาจจะยื่นเข้าไปในน้ำแบบขรุขระได้

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำมากหากมีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (ยังไม่คุ้มค่าความเสี่ยงจากการเจาะ) แต่จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนถัดไป
แต่หากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 2 เซนติเมตร ควรให้หมอเจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (อ่านเรื่อง การเจาะเซลล์ส่งตรวจมะเร็ง)

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low suspicion nodules) ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไทรอยด์อยู่ระหว่างร้อยละ 5ถึง 10
มีอยู่ 3 ชนิด

1. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (hyperechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 6 ด้านล่าง
ภาพที่ 6 ก้อนรูปไข่ ขอบเรียบ สีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ แทบจะไม่มีส่วนของน้ำ (Hyperechoic solid regular margin nodule)

ลักษณะของก้อนชนิดนี้คือ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และแทบจะไม่พบส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) เลย

2. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีเท่ากับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (isoechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 7 ด้านล่าง
ภาพที่ 7 ก้อนเนื้อรูปร่างเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ เนื้อมีสีเดียวกับเนื้อต่อมไทรอยด์ (Isoechoic solid regular margin nodule)
ก้อนมีลักษณะ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์เป็นสีเทาเหมือนกับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ที่ปกติ แทบจะไม่มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) ให้เห็นเลย

3. ถุงน้ำที่ก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic  with eccentric solid area) ดังภาพที่ 8
ภาพที่ 8 ถุงน้ำที่มีส่วนของก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic with eccentric solid area nodule) ถุงน้ำยังมีขอบเขตชัดเจน (หัวลูกศรสีเหลือง) ส่วนของก้อนเนื้อเกาะผนังด้านขวาของถุงน้ำ

ลักษณะก้อนจะเป็นถุงน้ำรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัดเรียบ ภายในถุงน้ำจะมีก้อนเนื้อเกาะอยู่ในผนังด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะไม่เกาะอยู่รอบทั่วทั้งก้อน ยิ่งหากก้อนมีเลือดเข้าไปเลี้ยงในส่วนเนื้อมากด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความสงสัยมะเร็งมากขึ้น

ก้อนทั้งสามรูปแบบนี้ หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะออกมาตรวจพิสูจน์ จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า แต่หากมีขนาดตั้งแต่ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะเซลล์พิสูจน์มะเร็ง

ก้อนที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Intermediate suspicion nodule)
ก้อนชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 10-20 ซึ่งมีชนิดเดียวคือ

ก้อนรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัด สีดำกว่าสีของเนื้อไทรอยด์ปกติ (Hypoechoic regular margin nodule) ดังภาพที่ 9
ภาพที่ 9 ก้อนขอบเขตเรียบ สีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์

ก้อนลักษณะนี้หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะพิสูจน์แต่จะนัดติดตามตรวจอัลตร้าซาวด์อีกหกเดือนข้างหน้า
หากก้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะพิสูจน์เนื้อเยื่อ

ก้อนที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (High suspicion nodule)
มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ร้อยละ 70-90
ก้อนแบบนี้จะต้องมีลักษณะร่วมกันคือ มีรูปร่างขรุขระ สีดำกว่าเนื้อของต่อมไทรอยด์จากภาพอัลตร้าซาวด์ ดังภาพที่ 10
ภาพที่ 10 ก้อนในต่อมไทรอยด์ รูปร่างขรุขระ เนื้อก้อนมีสีดำกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ

นอกจากนี้หากมีลักษณะเพิ่มเติมที่ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้นดังต่อไปนี้ (ภาพที่ 11ถึง 15)

  • มีความสูงมากกว่าความกว้าง (Taller than wide) (ภาพที่ 11)
    ภาพที่ 11 ก้อนขรุขระ มีส่วนสูงของก้อนมากกว่าความกว้างของก้อน
  • มีบางส่วนของก้อนทะลุขอบเขตต่อมไทรอยด์ (Extrathyroidal extension)(ภาพที่ 12)
    ภาพที่ 12 ก้อนเนื้อรูปร่างขรุขระ เนื้อสีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์และลักษณะการรุกล้ำออกนอกขอบเขตของต่อมไธรอยด์ (ออกนอกแนวเส้นประสีเหลือง) ไปทางด้านหน้า
  • ส่วนของก้อนมีหินปูนละเอียดกระจายอยู่เต็ม (Microcalcifications) ภาพที่ 13
    ภาพที่ 13 ก้อนที่มีสีเนื้อดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และมีจุดหินปูนเล็กๆสีขาวจำนวนมาก (Microcalcifications) อยู่ภายในก้อน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • ถ้าก้อนมีหินปูนโค้งที่ขอบก้อนและมีเนื้อเยื่อของก้อนดันหินปูนแตกจนบางส่วนของก้อนเนื้อยื่นออกนอกขอบของหินปูนออกไป (Interrupted rim calcification with soft tissue extrusion) ดังภาพที่ 14
    ภาพที่ 14 ก้อนที่มีหินปูนเป็นขอบสีขาวอยู่แต่เดิม แต่ขณะนี้ก้อนดันให้ขอบหินปูนด้านหน้าแต่กออกและชิ้นขอบหินปูนด้านหน้าถูกดันเลื่อนออกมาด้านหน้า (ลูกศรสีเหลือง) นอกจากนี้จะสังเกตเห็นส่วนของเนื้องอกโผล่อยู่นอกแนวหินปูน (ลูกศรขาว) ยืนยันว่าก้อนมีการรุกล้ำออกนอกแนวก้อนเดิม ซึ่งเป็น่ลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต  (Regional enlarged lymph node) ภาพที่ 15
    ภาพที่ 15 ลูกศรเฉียงแสดงตำแหน่งก้อนขรุขระที่เล็กอยู่ภายในต่อมไทรอยด์กลีบซ้าย แม้จะมีขนาดเล็กแต่ได้กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง (ลูกศรแนวตั้ง) เรียบร้อยแล้ว

ลักษณะเหล่านี้ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วก้อนที่มีลักษณะเหล่านี้จะมีขนาดเกิน 1 เซนติเมตรแล้ว หมอจะเจาะเก็บเซลล์ไปพิสูจน์มะเร็ง

หลังจากแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ อธิบายลักษณะของก้อนรวมทั้งขนาด ตำแหน่งที่พบ เรียบร้อยแล้ว จะให้ความเห็นในย่อหน้าสรุปอีกครั้ง ให้สังเกตบรรทัดสรุปท้ายๆว่า ลงความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงแบบไหน? และแนะนำให้เจาะ หรือให้ตรวจอัลตร้าซาวด์ติดตามผล
ดังตัวอย่างเช่น

  • ตัวอย่างที่ 1 Impression: Low suspicion nodule less than 1.5 cm in diameter, 6-month follow-up Ultrasound is recommended. แปลว่า ก้อนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับต่ำที่ยังเล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร แนะนำให้ติดตามการตรวจอัลตร้าซาวด์ก้อนในต่อมไทรอยด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า
  • ตัวอย่างที่ 2 Impression: High suspicion nodule more than 1. cm in diameter, fine needle biopsy is recommended. แปลว่า ก้อนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับสูงที่ขนาดเกินกว่า 1.0 เซนติเมตร แนะนำให้เจาะเก็บเซลล์จากก้อนพิสูจน์มะเร็ง

หวังว่าท่านผู้อ่านจะพอเข้าใจแนวทางของการรายงานผลของแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ของก้อนในต่อมไทรอยด์ให้กับท่านและสามารถใช้บทความนี้ในการทบทวนผลอัลตร้าซาวด์ของคุณเองได้นะครับ

ข้อมูล อ้างอิง จากแนวทางการดูแลก้อนในต่อมไทรอยด์ในผู้ใหญ่โดยสมาคมไทรอยด์แห่งอเมริกา (American Thyroid Association ManagementGuidelines for Adult Patients with Thyroid Nodulesand Differentiated Thyroid Cancer)


กลับสู่หน้า สารบัญบทความ

MRI เต้านม ควรทำในกรณีใด?

ภาพรวม

MRI (Magnetic resonance imaging) ของเต้านมเป็นการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมและความผิดปกติต่างๆของเต้านม
MRI จะอาศัยหลักฟิสิกส์ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสแกนส่วนของร่างกายในที่นี้คือเต้านมและให้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนเป็นภาพของอวัยวะรวมทั้งรอยโรคได้
MRI ของเต้านมมักจะใช้ตรวจหลังจากที่คุณทราบผลมะเร็งจากการเจาะเนื้อเยื่อแล้ว และแพทย์ต้องการทราบข้อมูลการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณใกล้เคียง 
นอกจากนี้สำหรับบางราย เรายังใช้ MRI ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม (Mammograms) ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่นประวัติมะเร็งเต้านมในญาติสายเลือดใกล้ชิด, มียีนพันธุกรรมที่จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง

ทำไมต้องตรวจ MRI เต้านม

คุณหมอของคุณอาจจะแนะนำให้ตรวจ MRI เต้านมในกรณีต่อไปนี้:
  • คุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมและแพทย์ต้องการจะเห็นการแพร่กระจายของมะเร็งไปบริเวณใกล้เคียงอย่างไรบ้าง
  • สงสัยการรั่วหรือแตกของถุงซิลิโคนที่เสริมเต้านม
  • คุณมีปัจจัยเสี่ยงสูงที่เกิดมะเร็งเต้านมตามที่คำนวณจากปัจจัยเสี่ยงทางครอบครัวและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • คุณมีประวัติคนในครอบครัวสายเลือดใกล้ชิด (แม่ พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • เต้านมของคุณมีเนื้อนมหนาแน่นมากจนแมมโมแกรมไม่สามารถเห็นก้อนมะเร็งเต้านมของคุณได้
  • คุณมีประวัติของรอยผิดปกติในเต้านมที่จะกำลังจะก่อตัวเป็นมะเร็งในอนาคต ดังเช่น atypical hyperplasia, Lobular carcinoma in situ และประวัติเสี่ยงสูงในครอบครัวร่วมกับมีเนื้อเต้านมหนาแน่นมาก
  • คุณมียีนกลายพันธุ์ชนิด BRCA1 หรือ BRCA2 ที่เสี่ยงมสูงมากที่จะเกิดมะเร็งในอนาคต
  • คุณได้รับฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอกตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี
หากคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงให้คุณ
MRI ของเต้านมมีจุดประสงค์ในการตรวจควบคู่ไปกับแมมโมแกรมหรือการตรวจภาพเต้านมวิธีอื่นๆ ไม่ได้มุ่งหมายมาใช้ทดแทนการตรวจแมมโมแกรม แม้ว่ามันจะมีความไวในการตรวจจับความผิดปกติมาก แต่มันก็ยังพลาดมะเร็งเต้านมบางลักษณะที่ตรวจจับได้ด้วยแมมโมแกรม

ความเสี่ยงจากการตรวจ

MRI เต้านมไม่เสี่ยงต่อการรับรังสีเอ็กซเรย์ แต่มีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้:
  • ผลบวกลวง. MRI อาจตรวจพบรอยผิดปกติที่สงสัยมะเร็งเต้านมแต่ภายหลังพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นเช่น อัลตร้าซาวด์เต้านมหรือเจาะเก็บเนื้อเยื่อตรวจแล้วเป็นรอยผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ เราเรียกกรณีว่า ผลบวกลวง ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความวิตกกังวลแก่คุณ
  • แพ้ยาที่ฉีดขณะตรวจ MRI. ในขั้นตอนการตรวจ MRI เต้านมจะต้องฉีดสารที่เสริมให้เห็นมะเร็งเต้านมง่ายขึ้น (contrast media) แต่สารนี้ก็อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ยาได้และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้มีการทำงานของไตบกพร่องอยู่ก่อนแล้วได้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ MRI ของเต้านม

ทำตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้:
  • ควรจัดเวลาตรวจในช่วงเริ่มต้นของรอบประจำเดือน  หากคุณยังอยู่ในวัยมีรอบเดือน ทางศูนย์ MRI จะจัดเวลาตรวจให้ตรงกับช่วงวันที่ 3-14 ของรอบเดือน โดยนับวันที่มีรอบเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1
  • แจ้งการแพ้ยาของคุณให้แพทย์ทราบ. การตรวจ MRI มักจะฉีดสารเคมีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อทำให้เห็นภาพมะเร็งชัดเจนขึ้นง่ายต่อการตรวจพบ การแจ้งประวัติแพ้ยาใดๆให้แพทย์ทราบช่วยให้แพทย์วางแผนดำเนินการที่เหมาะสมต่อไปได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบกรณีที่คุณมีปัญหาไตเสื่อมการทำงาน. สารเคมีที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขณะทำ MRI อาจส่งผลให้การทำงานไตแย่ลงอีกได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนงานที่เหมาะสมต่อไป
  • แจ้งแพทย์หากคุณกำลังตั้งครรภ์. โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ตรวจ MRI ที่ต้องฉีดสาร gadolinium contrast ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยต่อทารก
  • แจ้งแพทย์หากคุณต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. แม้ว่าจะมีข้อมูลว่าสาร gadolinium ในน้ำนมแม่จะเสี่ยงต่อทารกน้อยมาก หากคุณยังคงกังวลอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้คุณหยุดการให้นมบุตรด้วยนมแม่หลังการตรวจ MRI เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้ร่างกายคุณขับสารเคมีออกก่อน คุณอาจจะปั๊มนมออกจากเต้านมและทิ้งไปก่อน แต่ก่อนการตรวจ MRI คุณสามารถปั๊มน้ำนมเก็บไว้ก่อนได้
  • อย่าสวมใส่วัสดุที่เป็นโลหะขณะตรวจ MRI . วัสดุทำจากโลหะ เช่น เครื่องประดับ, ปิ่นปักผมและนาฬิกาข้อมืออาจเสียหายได้จากการตรวจ MRI จึงไม่ควรติดวัสดุเหล่านี้เข้าห้องตรวจ MRI
  • แจ้งแพทย์หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝังติดในร่างกาย. หากคุณผ่านการฝังอุปกรณ์ทางการแพทย์ในตัวคุณ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ, ฝังจุดฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Implanted drug port) หรือข้อเทียมโลหะ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

ขณะตรวจMRI เป็นอย่างไรบ้าง?

เมื่อคุณมาถึงศูนย์ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะขอให้คุณเปลี่ยนชุดสวมใส่สำหรับตรวจ ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะออก หากคุณรู้สึกไม่สบายร่างกายในกรณีอยู่ในที่แคบ กรุณาแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาให้ยาลดความกังวล
เจ้าหน้าที่จะเตรียมหลอดเลือดดำบริเวณแขนของคุณเพื่อพร้อมสำหรับฉีดสาร gadolinium ระหว่างการตรวจ MRI
ระหว่างนอนตรวจ คุณจะถูกจัดให้นอนคว่ำบนเตียงตรวจ MRI เต้านมของคุณจะอยู่ในแอ่งที่สัมผัสกับตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุและแม่เหล็ก และเตียงตรวจจะเลื่อนเข้าหาอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า
เครื่อง MRI จะสร้างสนามแม่เหล็กรอบๆตัวคุณและคลื่นวิทยุจะจับสัญญานใกล้หน้าอกคุณ แต่คุณจะไม่รู้สึกสัมผัสสนามแม่เหล็กกับคลื่นวิทยุเหล่านี้ คุณเพียงได้ยินเสียงรบกวนเป็นจังหวะกระตุกๆ เป็นระยะๆ ออกมาจากเครื่องตรวจ MRI เนื่องจากเสียงนี้น่ารำคาญ เจ้าหน้าที่จึงให้คุณสวมใส่ที่อุดหูเพื่อลดเสียงรบกวนเหล่านี้
ตลอดเวลาที่ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณจากห้องด้านนอก แต่คุณสามารถพูดสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านไมโครโฟน เจ้าหน้าที่จะบอกให้คุณนอนนิ่งๆให้มากที่สุดแต่ให้หายใจตามปกติ
การนัดหมาย MRI อาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ผลการตรวจ

รังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญการแปลผล MRI ของเต้านมจะดูภาพที่เกิดจาก MRI และรายงานผลไปยังแพทย์ของคุณ แพทย์ของคุณจะแจ้งผลให้คุณทราบและตอบข้อสงสัยของคุณอีกต่อหนึ่ง

ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจ รายงานผลตรวจแมมโมแกรม?


เวลาไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เต้านม ได้ผลอ่านมา หมอจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ อ่านไม่เข้าใจ ทำให้เป็นกังวล บางครั้งก็กังวลไปก่อน แถมตอนฟังหมออธิบายก็เข้าใจ แต่พอเวลาผ่านไป ลืมแล้วว่าเป็นอย่างไร อะไรทำนองนี้ วันนี้จะไขข้อข้องใจ เผื่อเก็บไว้เป็นคู่มือแปลผลในครั้งต่อไป


ตัวอย่างเอกสารรายงานผล ดังภาพ



ขอให้ท่านมองบทสรุปในตอนท้ายเอกสาร ซึ่งมักจะมีหัวข้อ ว่า IMPRESSION (คำที่ขีดเส้นใต้สีม่วง) บางทีก็ใช้คำว่า CONCLUSION หรือว่าจะเป็น Assessment ก็มี


ต่อมาให้หาคำว่า BIRADS (ดังที่วงกลมไว้ในภาพ) หรือบางที่ก็ใช้คำว่า Category แล้วมีตัวเลขต่อท้าย คำว่า BIRADS ย่อมาจาก Breast Imaging Reporting And Database System ซึ่งถือว่าเป็นหลักการอ่านมาตรฐานที่รังสีแพทย์ผู้รายงานผลต้องรายงานในกติกาเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหมู่แพทย์ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการแนะนำการปฏิบัติต่อคนไข้แบบมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (คล้ายกับ รูปแบบการเขียนจดหมายราชการ ต้องมีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น)
ข้อความในประโยคที่มีคำว่า BIRADS และตามด้วยตัวเลข นี่แหละเป็นบทสรุปของการแปลผลแมมโมแกรมและ/หรือ อัลตร้าซาวด์เต้านมของท่าน ซึ่งข้อตกลงร่วมกันจะกำหนดให้แพทย์รายงานผลออกมาตั้งแต่ BIRADS-0 ไปจนกระทั่ง BIRADS-6
 ซึ่งอันนี้จะเป็นตัวสรุปรวมว่าผลเป็นอย่างไร รายละเอียดตามตาราง ต่อไปนี้




BIRADs 0 แปลว่า การตรวจยังไม่ครบสมบูรณ์ ต้องขอเอกซเรย์หรือตรวจบางอย่างเพิ่มเติม จึงจะแปลผลได้ เช่นถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมท่ามาตรฐานแล้ว คนไข้กลับไปแล้ว แพทย์มาเห็นภายหลังพบรอยสงสัยผิดปกติแต่รอยผิดปกตินั้นตกขอบภาพ หรือคลุมเครือ จำเป็นต้องถ่ายเอกซเรย์เพิ่มในท่าพิเศษ แต่คนไข้กลับไปก่อนแล้ว จึงต้องรายงานผลว่าการตรวจยังไม่สมบูรณ์ต้องเรียกตัวคนไข้กลับมาตรวจเพิ่มเติม

BIRADS 1: Negative คือ ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ

BIRADS 2: Benign คือ ตรวจพบความผิดปกติชนิดที่ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ

BIRADS 3: Probably Benign คือ ความผิดปกติที่พบ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้น้อยกว่า 2% มักจะตามมาด้วยข้อความให้ กลับมาตรวจทุก 6 เดือนสัก 2-3 ปี ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต่อไปก็ตรวจกัน ปีละครั้งเหมือนเดิม แต่ถ้าเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเราค่อยเอาชิ้นเนื้อมาตรวจก็ไม่สายเกินไป แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความกังวลมาก และได้พูดคุยกับแพทย์เรียบร้อยแล้วก็ยังวิตกกังวลและอยากให้แพทย์เจาะส่งชิ้นเนื้อพิสูจน์ก็อาจทำได้เป็นกรณีพิเศษเป็นบางราย

BIRADS 4: Suspicious หมายถึงสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสตั้งแต่ 2-95% จะเห็นว่าช่วงโอกาสกว้างมาก จึงมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกสามกลุ่ม
  1. BIRADS 4a: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง ตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 10%
  2. BIRADS 4b: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 10% ไปจนถึง 50%
  3. BIRADS 4c: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 50% แต่น้อยกว่า 95%


BIRADS 5: Highly suggestive หมายถึง สงสัยมะเร็งเต้านมมากที่สุด โอกาสใช่ตั้งแต่ 95% ขึ้นไปถึง 100%
ถ้าเป็น BIRADS 4,5 จำเป็นต้องรีบเจาะเอาเก็บเนื้อเยื่อจากบริเวณรอยโรคมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง

BIRADS 6: Known biopsy proven หมายถึงผู้ป่วยเคยเจาะหรือผ่าชิ้นเนื้อมาแล้วว่าเป็นมะเร็ง แล้วแพทย์ค่อยส่งมาทำการตรวจเอกซเรย์เต้านม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรักษาต่อไป

ดังนั้น รายงานผลเอกซเรย์เต้านมโดยแพทย์ สำหรับประชาชนก็ให้มองหาส่วนสรุปท้ายรายงานให้พบ และทำความเข้าใจให้ได้ว่าแพทย์สื่อสารบอกว่า ท่านมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในระดับใดตามมาตรฐาน BIRADS และแพทย์แนะนำว่าให้ทำอย่างไรต่อไป 

กลับสู่ หน้า สารบัญบทความ