การใช้อัลตร้าซาวนด์นำวิถีช่วยการดูดน้ำจากช่องอก

ลองทายดูสิครับว่า ตัว "B" ในภาพดังต่อไปนี้เป็นส่วนของอะไร
รูปที่ 1 แสดงช่องในทรวงอก A = ปอดกลีบขวาที่หดเล็กลงเนื่องจากน้ำในช่องอกมากขึ้นผิดปกติ B = น้ำในช่องอกมากขึ้น C = น้ำในช่องอกระดับปกติเห็นเป็นแค่ฟิล์มบางๆเคลือบรอบๆปอด D = ปอดกลีบซ้ายที่ขยายตัวเต็มที่ตามปกติ

ถูกต้องแล้วครับ ส่วนที่ชี้ว่า "B" นั้นคือ น้ำในช่องอก (Pleural effusion อ่านว่า พลู-รัล-เอฟ-ฟิว-ชั่น) นั่นเอง

แต่ทำไมข้างขวาถึงมีน้ำในช่องอก เยอะกว่าข้างซ้ายละ? (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)
โดยปกติน้ำเวลาปอดขยายเต็มที่ (ลูกศรชี้ตำแหน่ง D) ช่องอกซึ่งบรรจุปอดอยู่จะแคบมีน้ำฉาบอยู่น้อยมากเพียงแค่นี้เอง(ลูกศรชี้ตำแหน่ง C)
แต่เมื่อเกิดความผิดปกติที่ทำให้มีน้ำในช่องอกมากขึ้น (ลูกศรชี้ตำแหน่ง B) จะดันให้ปอดเล็กลง (A) 

ความผิดปกติอะไรบ้างละ ที่ทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องอก?
สาเหตุมีมากมาย ตั้งแต่ภาะหัวใจล้มเหลว โรคไตเสื่อมการทำงาน โรคตับวาย การอักเสบของปอด หรือเยื่อหุ้มปอด มะเร็งต่างๆ เป็นต้น

มีอาการอะบ้างที่เตือนว่าจะมีน้ำในช่องอกเพิ่มขึ้น?
อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งเจ็บหน้าอก หายใจอีดอัด เหนื่อย ดังนั้นการวินิจฉัยด้วยอาการอย่างเดียวจะไม่แน่นอน

วิธีพิสูจน์อะไรยืนยันว่ามีน้ำในช่องอก?
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและส่งตรวจเอกซเรย์ทรวงอกเป็นอันดับแรก ในกรณีที่ยังไม่แน่ชัดจะส่งตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นความถี่สูง (อัลตร้าซาวดน์ [Ultrasound])

เมื่อพบน้ำในช่องอกมีวิธีดูแลอย่างไร?
แพทย์ที่ดูแลคุณจะเป็นผู้บอกกับคุณเองว่า เมื่อไรถึงจำเป็นต้องเอาน้ำในช่องอกออกมา
จุดประสงค์หลักๆของการดูดเอาน้ำออกจากช่องอก หลักๆ ก็คือ 

  1. เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในการวิเคราะห์โรค
  2. เพื่อระบายน้ำออกมากที่สุดช่วยลดอาการเหนื่อยของผู้ป่วย
  3. ทั้งสองอย่าง
แผนภาพแสดงหลักการระบายน้ำออกจากช่องอก A = เข็มที่สอดเข้าช่องอก B = ท่อยางยาวๆ ที่เชื่อมระหว่างเข็มกับภาชนะบรรจุน้ำในช่องอก C = ภาชนะรองรับน้ำในช่องอก

การเจาะดูดน้ำในช่องอกทำอย่างไรบ้าง?
วิธีการเจาะเอาน้ำออกจากช่องอกแบบดั้งเดิม ทำได้โดยผู้ป่วยนั่ง แพทย์อยู่ด้านหลังผู้ป่วย อาศัยประสบการณ์ของแพทย์จากการตรวจเคาะตามร่องซี่โครงว่าจุดไหนเสียงทีบก็น่าจะยังเป็นตำแหน่งที่เป็นน้ำ ระดับไหนที่เสียงเริ่มโปร่ง ก็จะเป็นปอดที่ขยายได้อยู่ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
แผนภาพแสดงการเคาะทดสอบเสียงตามร่องซี่โครงระดับต่างๆเพื่อหาตำแหน่งระดับน้ำในช่องอกเพื่อระบุจุดที่จะสอดเข็มได้เหมาะสม

ถ้าผู้ป่วยหนัก ลุกนั่งไม่ไหว และปริมาณน้ำในช่องอกน้อยๆละ ทำอย่างไรกัน?

โชคดีที่ปัจจุบัน เรามีเครื่องอัลตร้าซาวนด์ (เครื่องตรวจหาตำแหน่งของอวัยวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง)
พอวางหัวตรวจตรงตำแหน่งใด ภาพแสดงชั้นต่างๆของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นก็แสดงบนจอแสดงผลตามระดับความลึกเลย (คล้ายกับแสดงภาพชั้นของพื้นดินที่อยู่ลึกลงไปตรงตำแหน่งที่คุณยืน ประมาณนั้นแหละ)
ภาพแสดงการวางหัวตรวจอัลตร้าซาวนด์ลงบนผิวหนังส่วนอก แพทย์จะเห็นภาพเนื้อเยื้อส่วนที่ลึกจากชั้นผิวหนังลงไปเป็นระยะทางที่กำหนดไว้ แสดงผลบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องอัลตร้าซาวนด์

เมื่อเราแตะหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์บนผิวหนังทรวงอกของผู้ป่วย แพทย์ก็จะเห็นว่าลึกลงไปตรงนั้นเป็น น้ำในช่องอก หรือเป็นเนื้อปอดที่ไม่มีน้ำอยู่
ภาพจากจอแสดงผลของเครื่องอัลตร้าซาวนด์แสดงให้เห็นน้ำในช่องอกด้านขวา (E) 

หากลึกลงไปตรงนั้นเป็นบริเวณที่เหมาะสมจะสอดเข็มเข้าไปดูดน้ำออกมาได้ แพทย์จะแต้มน้ำหมึกที่ลบออกยากทำเครื่องหมายบนผิวหนังและ เตรียมตัวสอดเข็มเข้าตำแหน่งนั้น

แต่ถ้าจะให้แน่นอนกว่านั้นยิ่งขึ้น ก็วางหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์สัมผัสผิวหนังส่วนนั้นไว้ด้วยมือของแพทย์ข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็ค่อยๆสอดเข็มเข้าไป ผ่านการมองเห็นบนจอแสดงผล แพทย์จะได้เห็นเข็มค่อยๆเดินทางลึกลงไปๆ ถึงชั้นของน้ำในช่องอกได้อย่างทันตาเห็น (real time อ่านว่า เรียล ไทม์)
ภาพแสดงการสอดเข็มพร้อมกับอัลตร้าซาวนด์ตรงจุดที่ต้องการเพื่อให้เห็นทางเดินของเข็มเข้าไปยังเป้าหายตลอดเวลา
ภาพบนจอแสดงผลอัลตร้าซาวนด์ แสดงให้เห็นเข็ม (ลูกศรสีฟ้า) ผ่านจากด้านขวา ปลายไปอยู่ทางซ้ายเข้าไปอยู่ในช่องอกด้านขวาที่มีน้ำอยู่



การมีเครื่องมือช่วยให้เห็นภาพร่างกายแบบ real time นี่เองทำให้พลิกโฉมเทคนิคในการเจาะดูดน้ำในช่องอกให้ทำได้ง่าย ปลอดภัย มากขึ้นจริงๆครับ

การเตรียมตัวรับการเจาะ ทำอย่างไร?
โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวพิเศษแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำเพื่อการเจาะนี้ 
แพทย์จะตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีโรคที่เสียเลือดง่าย เลือดหยุดช้าหรือไม่ หรือรับประทานยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าหรือไม่ ถ้าเกรงว่าไม่ปลอดภัยแพทย์จะระงับการเจาะไว้ก่อน แก้ไขภาวะเลือดหยุดช้าให้ได้ก่อนจะเจาะในภายหลัง

ระหว่างเจาะเป็นอย่างไรบ้าง?
โดยทั่วไปมีขั้นตอนพอสังเขปดังนี้

  • หาตำแหน่งสอดเข็มที่เหมาะสม
  • ทำความสะอาดผิว
  • ฉีดยาชาเพื่อลดอาการเจ็บ
  • สอดเข็มเข้าในน้ำช่องอก
  • ดูดหรือต่อสายระบายน้ำออกจากร่างกายลงภาชนะบรรจุ
  • ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์สะอาด


หลังการเจาะต้องดูแลตนเองอย่างไร?
หลังการเจาะแพทย์จะทำเอกซเรย์ทรวงอกให้เพื่อ
ตรวจสอบแน่ใจว่าไม่ภาวะลมรั่วคั่งในช่องอก
เปรียบเทียบระดับน้ำในช่องอกกับภาพก่อนการเจาะ
ภาพเปรียบเทียบเอกซเรย์ทรวงอก ก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) การเจาะน้ำออกจากช่องอกด้านขวา 1 ลิตร คุณจะสังเกต น้ำ(สีทีบขาว) หลังการเจาะน้อยกว่าก่อนเจาะ

แผลที่เกิดจากรูเข็มและปิดพลาสเตอร์ไว้จะปิดสนิทภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์คลุมแต่อย่างใด
ผู้ป่วยน้อยรายมากที่ระดับการปวดถึงขั้นต้องรับประทานยาบรรเทาปวด

สรุป
ภาวะน้ำในช่องอกเพิ่มขึ้นผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องเจาะทุกราย หากทราบสาเหตุอยู่ก่อนแล้วและผู้ป่วยไม่ได้มีอาการเหนื่อยจากปอดหดแฟบลง แต่หากจำเป็นต้องเจาะไปเพื่อหาสาเหตุหรือต้องระบายเพื่อลดอาการผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างปลอดภัยด้วย เทคนิคการนำร่องด้วยอัลตร้าซาวดน์

กลับสู่หน้า สารบัญบทความ