MRI เต้านม ควรทำในกรณีใด?

ภาพรวม

MRI (Magnetic resonance imaging) ของเต้านมเป็นการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมและความผิดปกติต่างๆของเต้านม
MRI จะอาศัยหลักฟิสิกส์ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสแกนส่วนของร่างกายในที่นี้คือเต้านมและให้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนเป็นภาพของอวัยวะรวมทั้งรอยโรคได้
MRI ของเต้านมมักจะใช้ตรวจหลังจากที่คุณทราบผลมะเร็งจากการเจาะเนื้อเยื่อแล้ว และแพทย์ต้องการทราบข้อมูลการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณใกล้เคียง 
นอกจากนี้สำหรับบางราย เรายังใช้ MRI ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม (Mammograms) ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่นประวัติมะเร็งเต้านมในญาติสายเลือดใกล้ชิด, มียีนพันธุกรรมที่จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง

ทำไมต้องตรวจ MRI เต้านม

คุณหมอของคุณอาจจะแนะนำให้ตรวจ MRI เต้านมในกรณีต่อไปนี้:
  • คุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมและแพทย์ต้องการจะเห็นการแพร่กระจายของมะเร็งไปบริเวณใกล้เคียงอย่างไรบ้าง
  • สงสัยการรั่วหรือแตกของถุงซิลิโคนที่เสริมเต้านม
  • คุณมีปัจจัยเสี่ยงสูงที่เกิดมะเร็งเต้านมตามที่คำนวณจากปัจจัยเสี่ยงทางครอบครัวและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • คุณมีประวัติคนในครอบครัวสายเลือดใกล้ชิด (แม่ พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • เต้านมของคุณมีเนื้อนมหนาแน่นมากจนแมมโมแกรมไม่สามารถเห็นก้อนมะเร็งเต้านมของคุณได้
  • คุณมีประวัติของรอยผิดปกติในเต้านมที่จะกำลังจะก่อตัวเป็นมะเร็งในอนาคต ดังเช่น atypical hyperplasia, Lobular carcinoma in situ และประวัติเสี่ยงสูงในครอบครัวร่วมกับมีเนื้อเต้านมหนาแน่นมาก
  • คุณมียีนกลายพันธุ์ชนิด BRCA1 หรือ BRCA2 ที่เสี่ยงมสูงมากที่จะเกิดมะเร็งในอนาคต
  • คุณได้รับฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอกตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี
หากคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงให้คุณ
MRI ของเต้านมมีจุดประสงค์ในการตรวจควบคู่ไปกับแมมโมแกรมหรือการตรวจภาพเต้านมวิธีอื่นๆ ไม่ได้มุ่งหมายมาใช้ทดแทนการตรวจแมมโมแกรม แม้ว่ามันจะมีความไวในการตรวจจับความผิดปกติมาก แต่มันก็ยังพลาดมะเร็งเต้านมบางลักษณะที่ตรวจจับได้ด้วยแมมโมแกรม

ความเสี่ยงจากการตรวจ

MRI เต้านมไม่เสี่ยงต่อการรับรังสีเอ็กซเรย์ แต่มีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้:
  • ผลบวกลวง. MRI อาจตรวจพบรอยผิดปกติที่สงสัยมะเร็งเต้านมแต่ภายหลังพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นเช่น อัลตร้าซาวด์เต้านมหรือเจาะเก็บเนื้อเยื่อตรวจแล้วเป็นรอยผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ เราเรียกกรณีว่า ผลบวกลวง ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความวิตกกังวลแก่คุณ
  • แพ้ยาที่ฉีดขณะตรวจ MRI. ในขั้นตอนการตรวจ MRI เต้านมจะต้องฉีดสารที่เสริมให้เห็นมะเร็งเต้านมง่ายขึ้น (contrast media) แต่สารนี้ก็อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ยาได้และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้มีการทำงานของไตบกพร่องอยู่ก่อนแล้วได้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ MRI ของเต้านม

ทำตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้:
  • ควรจัดเวลาตรวจในช่วงเริ่มต้นของรอบประจำเดือน  หากคุณยังอยู่ในวัยมีรอบเดือน ทางศูนย์ MRI จะจัดเวลาตรวจให้ตรงกับช่วงวันที่ 3-14 ของรอบเดือน โดยนับวันที่มีรอบเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1
  • แจ้งการแพ้ยาของคุณให้แพทย์ทราบ. การตรวจ MRI มักจะฉีดสารเคมีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อทำให้เห็นภาพมะเร็งชัดเจนขึ้นง่ายต่อการตรวจพบ การแจ้งประวัติแพ้ยาใดๆให้แพทย์ทราบช่วยให้แพทย์วางแผนดำเนินการที่เหมาะสมต่อไปได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบกรณีที่คุณมีปัญหาไตเสื่อมการทำงาน. สารเคมีที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขณะทำ MRI อาจส่งผลให้การทำงานไตแย่ลงอีกได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนงานที่เหมาะสมต่อไป
  • แจ้งแพทย์หากคุณกำลังตั้งครรภ์. โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ตรวจ MRI ที่ต้องฉีดสาร gadolinium contrast ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยต่อทารก
  • แจ้งแพทย์หากคุณต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. แม้ว่าจะมีข้อมูลว่าสาร gadolinium ในน้ำนมแม่จะเสี่ยงต่อทารกน้อยมาก หากคุณยังคงกังวลอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้คุณหยุดการให้นมบุตรด้วยนมแม่หลังการตรวจ MRI เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้ร่างกายคุณขับสารเคมีออกก่อน คุณอาจจะปั๊มนมออกจากเต้านมและทิ้งไปก่อน แต่ก่อนการตรวจ MRI คุณสามารถปั๊มน้ำนมเก็บไว้ก่อนได้
  • อย่าสวมใส่วัสดุที่เป็นโลหะขณะตรวจ MRI . วัสดุทำจากโลหะ เช่น เครื่องประดับ, ปิ่นปักผมและนาฬิกาข้อมืออาจเสียหายได้จากการตรวจ MRI จึงไม่ควรติดวัสดุเหล่านี้เข้าห้องตรวจ MRI
  • แจ้งแพทย์หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝังติดในร่างกาย. หากคุณผ่านการฝังอุปกรณ์ทางการแพทย์ในตัวคุณ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ, ฝังจุดฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Implanted drug port) หรือข้อเทียมโลหะ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

ขณะตรวจMRI เป็นอย่างไรบ้าง?

เมื่อคุณมาถึงศูนย์ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะขอให้คุณเปลี่ยนชุดสวมใส่สำหรับตรวจ ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะออก หากคุณรู้สึกไม่สบายร่างกายในกรณีอยู่ในที่แคบ กรุณาแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาให้ยาลดความกังวล
เจ้าหน้าที่จะเตรียมหลอดเลือดดำบริเวณแขนของคุณเพื่อพร้อมสำหรับฉีดสาร gadolinium ระหว่างการตรวจ MRI
ระหว่างนอนตรวจ คุณจะถูกจัดให้นอนคว่ำบนเตียงตรวจ MRI เต้านมของคุณจะอยู่ในแอ่งที่สัมผัสกับตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุและแม่เหล็ก และเตียงตรวจจะเลื่อนเข้าหาอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า
เครื่อง MRI จะสร้างสนามแม่เหล็กรอบๆตัวคุณและคลื่นวิทยุจะจับสัญญานใกล้หน้าอกคุณ แต่คุณจะไม่รู้สึกสัมผัสสนามแม่เหล็กกับคลื่นวิทยุเหล่านี้ คุณเพียงได้ยินเสียงรบกวนเป็นจังหวะกระตุกๆ เป็นระยะๆ ออกมาจากเครื่องตรวจ MRI เนื่องจากเสียงนี้น่ารำคาญ เจ้าหน้าที่จึงให้คุณสวมใส่ที่อุดหูเพื่อลดเสียงรบกวนเหล่านี้
ตลอดเวลาที่ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณจากห้องด้านนอก แต่คุณสามารถพูดสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านไมโครโฟน เจ้าหน้าที่จะบอกให้คุณนอนนิ่งๆให้มากที่สุดแต่ให้หายใจตามปกติ
การนัดหมาย MRI อาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ผลการตรวจ

รังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญการแปลผล MRI ของเต้านมจะดูภาพที่เกิดจาก MRI และรายงานผลไปยังแพทย์ของคุณ แพทย์ของคุณจะแจ้งผลให้คุณทราบและตอบข้อสงสัยของคุณอีกต่อหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น