เวลาไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เต้านม
ได้ผลอ่านมา หมอจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ อ่านไม่เข้าใจ ทำให้เป็นกังวล
บางครั้งก็กังวลไปก่อน แถมตอนฟังหมออธิบายก็เข้าใจ แต่พอเวลาผ่านไป ลืมแล้วว่าเป็นอย่างไร
อะไรทำนองนี้ วันนี้จะไขข้อข้องใจ เผื่อเก็บไว้เป็นคู่มือแปลผลในครั้งต่อไป
ตัวอย่างเอกสารรายงานผล
ดังภาพ
ขอให้ท่านมองบทสรุปในตอนท้ายเอกสาร ซึ่งมักจะมีหัวข้อ ว่า IMPRESSION (คำที่ขีดเส้นใต้สีม่วง) บางทีก็ใช้คำว่า CONCLUSION หรือว่าจะเป็น Assessment ก็มี
ต่อมาให้หาคำว่า
BIRADS
(ดังที่วงกลมไว้ในภาพ) หรือบางที่ก็ใช้คำว่า Category แล้วมีตัวเลขต่อท้าย คำว่า BIRADS ย่อมาจาก Breast Imaging Reporting And
Database System ซึ่งถือว่าเป็นหลักการอ่านมาตรฐานที่รังสีแพทย์ผู้รายงานผลต้องรายงานในกติกาเดียวกัน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหมู่แพทย์ทั่วโลก
ซึ่งจะส่งผลต่อการแนะนำการปฏิบัติต่อคนไข้แบบมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (คล้ายกับ
รูปแบบการเขียนจดหมายราชการ ต้องมีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น)
ข้อความในประโยคที่มีคำว่า
BIRADS และตามด้วยตัวเลข
นี่แหละเป็นบทสรุปของการแปลผลแมมโมแกรมและ/หรือ
อัลตร้าซาวด์เต้านมของท่าน ซึ่งข้อตกลงร่วมกันจะกำหนดให้แพทย์รายงานผลออกมาตั้งแต่
BIRADS-0 ไปจนกระทั่ง BIRADS-6
ซึ่งอันนี้จะเป็นตัวสรุปรวมว่าผลเป็นอย่างไร
รายละเอียดตามตาราง ต่อไปนี้
BIRADs 0 แปลว่า
การตรวจยังไม่ครบสมบูรณ์ ต้องขอเอกซเรย์หรือตรวจบางอย่างเพิ่มเติม จึงจะแปลผลได้ เช่นถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมท่ามาตรฐานแล้ว
คนไข้กลับไปแล้ว แพทย์มาเห็นภายหลังพบรอยสงสัยผิดปกติแต่รอยผิดปกตินั้นตกขอบภาพ
หรือคลุมเครือ จำเป็นต้องถ่ายเอกซเรย์เพิ่มในท่าพิเศษ แต่คนไข้กลับไปก่อนแล้ว
จึงต้องรายงานผลว่าการตรวจยังไม่สมบูรณ์ต้องเรียกตัวคนไข้กลับมาตรวจเพิ่มเติม
BIRADS 1: Negative คือ ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ
มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า
ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ
BIRADS 2: Benign คือ
ตรวจพบความผิดปกติชนิดที่ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า
ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ
BIRADS
3: Probably Benign คือ ความผิดปกติที่พบ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้น้อยกว่า 2% มักจะตามมาด้วยข้อความให้ กลับมาตรวจทุก 6 เดือนสัก 2-3 ปี ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต่อไปก็ตรวจกัน ปีละครั้งเหมือนเดิม
แต่ถ้าเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเราค่อยเอาชิ้นเนื้อมาตรวจก็ไม่สายเกินไป
แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความกังวลมาก และได้พูดคุยกับแพทย์เรียบร้อยแล้วก็ยังวิตกกังวลและอยากให้แพทย์เจาะส่งชิ้นเนื้อพิสูจน์ก็อาจทำได้เป็นกรณีพิเศษเป็นบางราย
BIRADS
4: Suspicious หมายถึงสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสตั้งแต่
2-95% จะเห็นว่าช่วงโอกาสกว้างมาก จึงมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกสามกลุ่ม
- BIRADS 4a: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง ตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 10%
- BIRADS 4b: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 10% ไปจนถึง 50%
- BIRADS 4c: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 50% แต่น้อยกว่า 95%
BIRADS 5: Highly suggestive หมายถึง
สงสัยมะเร็งเต้านมมากที่สุด โอกาสใช่ตั้งแต่ 95% ขึ้นไปถึง 100%
ถ้าเป็น BIRADS 4,5 จำเป็นต้องรีบเจาะเอาเก็บเนื้อเยื่อจากบริเวณรอยโรคมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง
ถ้าเป็น BIRADS 4,5 จำเป็นต้องรีบเจาะเอาเก็บเนื้อเยื่อจากบริเวณรอยโรคมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง
BIRADS
6: Known biopsy proven หมายถึงผู้ป่วยเคยเจาะหรือผ่าชิ้นเนื้อมาแล้วว่าเป็นมะเร็ง
แล้วแพทย์ค่อยส่งมาทำการตรวจเอกซเรย์เต้านม
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรักษาต่อไป
ดังนั้น รายงานผลเอกซเรย์เต้านมโดยแพทย์
สำหรับประชาชนก็ให้มองหาส่วนสรุปท้ายรายงานให้พบ
และทำความเข้าใจให้ได้ว่าแพทย์สื่อสารบอกว่า ท่านมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในระดับใดตามมาตรฐาน BIRADS และแพทย์แนะนำว่าให้ทำอย่างไรต่อไป
กลับสู่ หน้า สารบัญบทความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น