ทำไม ตรวจเอกซเรย์เต้านมต้องทำอัลตร้าซาวด์เต้านมด้วย?

บางท่านทราบแต่เพียงว่าการคัดกรองมะเร็งเต้านมคือการตรวจด้วยเอกซเรย์เต้านม (mammography) ไม่จำเป็นต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ก็ได้
หมอรัฐวัชร์จะแสดงตัวอย่างให้ดูว่าเป็นอย่างไร
นี่คือตัวอย่างแผนภาพเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมข้างขวาสี่ภาพเรียงลำดับตัวเลข ลูกศรสีฟ้าแต่ละอันชี้ตำแหน่งที่มีก้อนกลมสีขาว ลายเส้นในเต้านมแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของเนื้อนมต่างๆกันเรียงลำดับจากน้อย (ซ้าย) ไปหามาก (ขวา)
ภาพหมายเลขหนึ่ง เห็นก้อนกลมชัดเจน เพราะเส้นใยเนื้อนมไม่ได้บดบังก้อนเลยใช่ไหม?
ภาพหมายเลขสอง แสดงเต้านมที่มีเนื้อเยื่อเต้านมเริ่มหนาแน่นมากขึ้น เราเริ่มจะเห็นก้อนกลมไม่ค่อยชัดเจนแล้วใช่ไหมครับ?
ภาพหมายเลขสาม แสดงเต้านมที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นขึ้นอีกระดับ เราดูไม่ออกเลยว่ามีก้อนกลมอยู่ในเต้านม
ภาพหมายเลขสี่ เต้านมมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นสูงสุด ไม่มีทางเห็นก้อนที่ซ่อนอยู่ได้เลย
จากภาพอธิบายได้ว่า กรณีรังสีแพทย์เห็นเนื้อเยื่อเต้านมแบบที่หนึ่งคือเนื้อเยื่อเต้านมไม่หนาแน่นเลย แพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมเพิ่มให้ก็ได้
แต่หากภาพเอกซเรย์เต้านมที่มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นจนมีโอกาสบดบังก้อนที่ซ่อนได้ แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมให้ด้วยครับ
จากการตรวจเอกซเรย์เต้านมของคนไทย ส่วนใหญ่จะมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่นมาก ดังนั้นส่วนมากจะได้รับการตรวจเสริมด้วยอัลตร้าซาวด์เต้านมด้วยครับ

จากภาพเอกซเรย์เต้านม (mammograms) ข้างบนนี้ มีใครเห็นก้อนเนื้อในเต้านมซ้ายบ้าง?
ไม่เห็นใช่ไหมครับ? หมอก็ไม่เห็นเหมือนกันครับ แต่พอลองไปตรวจกับเครื่องอัลตร้าซาวด์ดู เห็นดังรูปล่างครับ
ในภาพอัลตร้าซาวด์เนื้อเยื่อเต้านมจะเป็นสีขาว ส่วนเนื้องอกขรุขระในภาพเป็นก้อนสีเทาดำ เราจึงเห็นก้อนแตกต่างจากเนื้อเยื่อเต้านมปกติได้ชัดเจนครับ

โดยสรุป กรณีที่เนื้อเยื่อเต้านมมีมากจนมีโอกาสบดบังก้อนเนื้อในเต้านมได้ รังสีแพทย์จะพิจารณาตรวจเต้านมด้วยอัลตร้าซาวด์ (breast ultrasonography)เพิ่มเติมจากการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammography) จึงจะครบถ้วนกระบวนการคัดกรองหรือวินิจฉัยหารอยโรคในเต้านมครับ


กลับสู่ สารบัญบทความ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น