เนื้อหาในบทนี้เฉพาะมะเร็งตับที่กำเนิดจากเซลล์ตับจริงๆ ไม่ใช่มะเร็งท่อน้ำดีนะครับ
ความสำคัญ
เป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับต้นๆของคนไทย(อันดับสามของชายไทย อันดับเจ็ดของหญิงไทย)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
- ตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, ตับอักเสบเรื้อรังโดยไม่พบสาเหตุ (ก็มีได้นะ)
- ไวรัสตับอักเสบบี พบว่าการมีไวรัสตับอักเสบบีจะเกิดมะเร็งตับได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นตับแข็งก่อนก็ได้
ขณะที่ก้อนมะเร็งยังเล็ก คนเรายังไม่มีอาการใดๆ น่าเสียดาย ถ้ารอให้มีอาการต่อไปนี้แสดงว่ามะเร็งตับได้เติบโตลุกลามมากเกินจะรักษาแล้วทุกครั้งไป อาการที่ว่าได้แก่ ปวด แน่นท้องบริเวณด้านขวาบน ปวดบริเวณลิ้นปี่(หากมะเร็งเกิดในตับกลีบซ้าย) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การย่อยอาหารผิดปกติ คลำพบก้อนในท้อง ท้องมาน(ท้องป่องโตขึ้นมาก) ตัวเหลือง ตาเหลือง (ท้องมานและแน่นท้องอาจแยกได้ยากจากภาวะตับแข็งเพียงอย่างเดียว)ดังนั้น "อย่ารอให้มีอาการจะดีกว่าไหม?"
- ตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยทั่วไปเด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2535 จะได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีกันถ้วนหน้าแล้ว แต่ถ้าใครเกิดก่อนหน้านั้น ให้ไปขอตรวจเลือดหาไวรัสบีและซี ถ้าไม่พบเชื้อให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ด้วย เนื่องจากมันอาจติดต่อได้ทางสายเลือดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ ทางเพศสัมพันธ์ และการได้รับเลือดที่มีเชื้ออยู่ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เท่าที่ทราบการขอตรวจพิเศษนี้ไม่ฟรีนะ
- ผู้ที่ทราบแล้วว่ามีเชื้อตับอักเสบอยู่ให้ติดตามกับแพทย์ตลอดไป แพทย์จะได้นัดตรวจติดตามทุกๆ 6 เดือน (อันนี้แพทย์นัดมาตรวจอาจจะฟรี ในโรงพยาบาลรัฐบาล แต่ยารักษาไวรัสตับอักเสบไม่แน่ใจว่าต้องจ่ายเท่าไร) ด้วยอัลตร้าซาวด์และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ
การตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อค้นหาก้อนในตับ 1-2) วิธีการตรวจ 3) ภาพอัลตร้าซาวด์แสดงก้อนในตับซึ่งยังต้องการตรวจพิสูจน์ขั้นตอนต่อไป - ผู้ที่เป็นตับแข็งอยู่แล้วแพทย์จะนัดติดตามเป็นระยะๆและเฝ้าระวังมะเร็งตับให้อยู่แล้ว
- ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวดน์ช่องท้องไปด้วย (นายจ้างบ่างบริษัทเห็นความสำคัญได้จัดสวัสดิการนี้ให้พนักงาน แต่บางบริษัทหรือราชการจะไม่ได้รับ ถ้าอยากตรวจทุกปีก็ต้องเตรียมเงินส่วนตัวไว้ด้วย)
การตรวจเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง อุโมงวงแหวนนี้มีหลอดเอกซเรย์หมุนรอบร่างกายผู้ป่วยขณะที่เตียงเลื่อนเข้าผ่านช่องกลางวงแหวน คอมพิวเตอร์จะประมวนภาพออกมาเป็นภาพของส่วนต่างๆในร่างกาย |
ภาพที่คอมพิวเตอร์แสดงให้เห็น หัวลูกศรชี้ก้อนเล็กๆในตับ ซึ่งภายหลังพิสูจน์ว่าเป็นก้อนมะเร็ง |
การเจาะเก็บเนื้อเยื้อจากก้อนเนื้องอกตับ
ปัจจุบันมีเครื่องมือนำทางหลายชนิด ทำให้แพทย์สามารถสอดเข็มเข้าไปเก็บเนื้อเยื่อของเนื้องอกในตับออกมาได้อย่างแม่นยำ แผลเท่ารูเข็ม ไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน ภาพที่แสดงด้านล่างเป็นเพียงแผนภาพอย่างง่ายให้เข้าใจ
การเจาะเก็บเนื้อเยื้อจะใช้เพียงฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ต้องสลบหรือนอนหลับ จึงลดความเสี่ยงต่อยาต่างๆได้ ส่วนใหญ่คนไข้ก่อนทำจะกังวลว่าจะเจ็บมาก ขอให้วางยาสลบ แต่พอได้ทำจริงๆ เจ็บเฉพาะตอนฉีดยาชา ก็เข้าใจหมอ โดยทั่วไปแพทย์จะเช็คเลือดว่า มีการแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติหรือไม่ ถ้ามีก็จะแก้ไขให้ปกติก่อนทำการเจาะ เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียเลือดมากในช่องท้อง
การเจาะสมัยนี้สะดวกมาก ผู้ป่วยมีแผลเพียงรูเข็มซึ่งจะสมานปิดได้เองภายใน 24 ชั่วโมง นอนในโรงพยาบาลเพียงคืนเดียว ก็กลับบ้านได้
โดยทั่วไปจะทราบผลวินิจฉัยชิ้นเนื้อประมาณ 7 วันหลังการเจาะตรวจ ระหว่างรอนี้ผู้ป่วยคงกระวนกระวายใจน่าดู
การรักษามะเร็งตับ
พิจารณาจากขนาดของก้อน จำนวนของก้อนและสภาวะผู้ป่วยที่จะรับการรักษาชนิดนั้นได้หรือไม่
การผ่าตัดตับกลีบที่มีเนื้องอกออก ก้อนต้องยังเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 เซนติเมตร เป็นก้อนเดียวและผู้ป่วยต้องมีสภาวะที่รับการผ่าตัดใหญ่ได้
แผนภาพการตัดตับกลีบขวาซึ่งมีมะเร็งตับอยู่แต่ในภาพนี้ก้อนดูจะใหญ่เกินไปที่จะผ่าแบบนี้ได้ |
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ก้อนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ไม่เกิน 3 เซนติเมตรและจำนวนไม่เกิน 3 ก้อนและผู้ป่วยต้องรับสภาวะการผ่าตัดใหญ่ได้ ที่สำคัญมีผู้บริจาคตับที่เนื้อเยื่อสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้
แผนภาพการนำตับจากผู้บริจาคมาต่อให้กับผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดเเอาตับที่มีมะเร็งออกไปแล้ว ตับกลีบซ้ายของผู้บริจาคยังเหลืออยู่และมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ |
การใช้เข็มความร้อนหรือความเย็น ก้อนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ไม่เกิน 3 เซนติเมตรและจำนวนไม่เกิน 3 ก้อนแต่ผู้ป่วยไม่น่าจะทนการผ่าตัดใหญ่ได้ หรือผ่าตัดได้แต่กำลังรอตับจากผู้บริจาคอยู่
การให้ยาเคมีและอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ก้อนเดี่ยวมีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร หรือขนาดใดก็ได้จำนวนมากกว่า 3 ก้อน เนื้องอกยังไม่กระจายออกนอกตับหรือหลอดเลือดดำใหญ่ของตับ
การให้ยาเคมีบำบัดบรรเทาอาการ กรณีรักษาแบบข้างต้นไม่ได้แล้วเนื่องจากก้อนกระจายออกนอกตับแล้ว ถ้าผู้ป่วยยังไม่แย่ขนาดนอนอย่างเดียว อาจพิจารณายาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน (ราคาแพงมาก)
การรักษาประคับประคองอาการ กรณีที่ไม่สามารถให้การรักษาข้างต้นได้แล้วเนื่องจากผู้ปวยสภาวะแย่มาก จำเป็นต้องให้การรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการที่เป็นอยู่เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
โดยสรุป มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่อันตราย แม้มีการป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้บางส่วน แต่อย่างไรก็ตามการคัดกรองหามะเร็งนี้จำเป็นต้องลงทุนเองสำหรับบางคน และบางคนอาจจะโชคดีที่ได้ตรวจฟรี เพราะหากรอให้มะเร็งแสดงอาการก็คือระยะเป็นมากไม่สามารถให้การรักษาที่ได้ผลอยู่รอดได้นานนัก การรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นที่ดีทีสุดน่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนตับ แต่สำหรับเมืองไทยการหาผู้บริจาคอวัยวะยากแสนสาหัส นอกจากนี้แต่ละการรักษาก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากทีเดียว คุณผู้อ่านก็จงเตรียมพร้อมด้านการเงินด้วย เพราะจะหวังพึ่งพาสวัสดิการสังคมเห็นจะเป็นไปได้ยากขึ้นทุกวัน
เป็นยังไงบ้างบทความนี้ หากคุณอยากติดตามบทความ การรักษาแบบรูเล็ก เจ็บน้อยอีก ให้ไปกดปุ่ม facebook like นะครับ
กลับ หน้า สารบัญบทความ
Link พัฒนาตนเอง
1. แนวทางพัฒนาการคิด
2. กด like ให้drrattawach fanpage
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น