ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่เจ็บ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพ
บทความนี้ขยายความจาก เรื่อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอันดับสองแล้ว จะรับมืออย่างไร" (หากใครยังไม่อ่าน คลิ๊กลิงค์ อ่านได้เลยครับ)

ครั้งนี้จะกล่าวละเอียดถึงวิธี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่หมอพอจะมีประสบการณ์มากกว่าวิธีอื่นๆนะครับ

ใครที่จะได้ประโยชน์จากการอ่านบทความนี้?
หากคุณมีอายุตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นมา หรือมีคนที่รักอายุรุ่นนี้ก็ควรติดตามความรู้นี้นะครับ

อย่างที่ทราบอยู่แล้วว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่จะประมาทได้เลย มันไม่เคยแสดงอาการเตือนตอนมันก่อตัวสักนิด แต่เมื่ออาการเผยตัว มันก็ใหญ่เสียจนกระจายไปบริเวณอื่นแล้ว
คุณลองดูรูปข้างล่างนี่อีกครั้ง
ภาพแสดงก้อนมะเร็งก่อตัวในลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
ภาพบน คือ ภาพสามมิติของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด 
ภาพล่างแสดงก้อนเนื้องอกในลำไส้ใหญส่วนต้น 
1 คือมะเร็งเกิดเป็นติ่งเนื้ออยู่ภายในผนังชั้นใน (เยื่อบุ)ของลำไส้ 
2 คือมะเร็งที่กัดกินทะลุเยื่อบุภายในเข้ามาอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อ (ชั้นกลาง) ของผนังลำไส้ 
3 มะเร็งกัดกินลึกลงมาถึงผนังชั้นนอกสุดของลำไส้แต่ยังไม่ทะลุออกภายนอกลำไส้ 
4 คือมะเร็งทะลุออกนอกลำไส้และแพรกระจายสู่ท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดฝอย ซึ่งสามารถกระจายไปไกลจากต้นกำเนิดได้แล้ว 
จะเห็นได้ว่า แม้แต่มะเร็งทะลุผนังลำไส้ออกมาและกระจายไปตามท่อน้ำเหลืองแล้ว คนไข้ยังอาจไม่มีอาการใดๆได้เนื่องจากก้อนเนื้อไม่ได้อุดท่อลำไส้จนกากอาหารผ่านไม่ได้ กว่าก้อนเนื้ออุดลำไส้จนเกิดอาการท้องผูก มะเร็งก็กระจายออกไปไกลแล้วเสียส่วนใหญ่ ซึ่งการผ่าตัดลำไส้ออกครึ่งหนึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมมะเร็งที่กระจายไปไกลแล้วได้ อีกอย่างหนึ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่นี้ ดื้อยาต้านมะเร็งมาก ยังไม่มียาสูตรไหนกำจัดมันได้ผลดี อย่างมากให้ผลครึ่งหนึ่งเท่านั้น

"เราควรตรวจพบตั้งแต่มันมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร" จะดีกว่าไหม?

หากคุณหรือคนที่คุณรัก เริ่มตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบติ่งเนื้อและเมื่อตัดติ่งเนื้อไปตรวจพบเป็นมะเร็งระยะแรก ก็เพียงตัดลำไส้ส่วนนั้นเป็นช่วงสั้นๆ โอกาสหายขาดสูงมาก 
จะดีกว่าไหม ถ้าเรารักษาชีวิตอันมีค่าและดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับคนที่รักได้อีกนาน?

ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนการตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่?

  1. เตรียมลำไส้ (Bowel Preparation)
  2. ติดฉลากให้กากอาหาร (Fecal tagging)
การเตรียมลำไส้ใหญ่
มีหลายสูตรมาก ขอยกตัวอย่างที่โรงพยาบาลของหมอใช้กันคือ
สองวันก่อนเช้าวันตรวจ 
อาหาร  อาหารที่กินไม่ได้คือ ส่วนของพืชผัก เมล็ดธัญพืช เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ ไขมันพวกเนยหรืออาหารทอด ผัด
อาหารที่รับประทานได้คืออาการอ่อนไร้กากใย ได้แก่ แป้งหรือข้าวหรือเนื้อในของถั่ว (ไม่มีเปลือกของเมล็ด) ขนมปังขาวล้วน เส้นหมี่จากแป้งขาวล้วน เนื้อสัตว์หรือไข่ที่บดละเอียด เป็นต้น
หนึ่งวันก่อนตรวจ
อาหาร รับประทานแต่อาหารเหลวที่ใส แค่ไหนถึงจะเรียกว่าใส คือถ้าใส่แก้วแล้ววางแก้วบนกระดาษหนังสือพิมพ์เรายังเห็นตัวหนังสือที่ก้นแก้วได้นั่นถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าขุ่นจนอ่านตัวหนังสือไม่เห็นก็ไม่ควรดื่ม
ยาระบาย เจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์จะให้ยาระบายมารับประทานในวันนี้ด้วยให้รับประทานตามคำแนะนำ
สารติดฉลากให้กากอาหาร เจ้าหน้าที่จะให้ของเหลวซึ่งเป็นส่วนของสารติดฉลากกากอาหาร คือเมื่อดื่มเข้าไปตามคำแนะนำ สารนี้จะไปเคลือบกากอาหารที่ยังติดต้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ ช่วยให้แพทย์ที่ดูภาพเอกซเรย์แยกแยะได้ว่านั่นคือกากอาหารที่ติดอยู่ ไม่ใช่เนื้องอกของจริง
เช้าวันตรวจ ให้งดอาหาร อาจจะจิบน้ำแก้กระหายบ้าง แล้วมาโรงพยาบาล
การตรวจ
เจ้าหน้าที่จะสวนท่อยางเล็กๆเข้าทวารหนัก ดังรูป
ภาพแสดงการสอดท่อยางเข้าทางทวารหนัก ไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด

ภาพแสดงขนาดท่อยางที่สอดปลายเข้าทางทวาร ขนาดเล็กเท่าหลอดกาแฟเท่านั้นเอง

 แล้วใส่ลมเข้าทางท่อนี้เพื่อให้ลำไส้ใหญ่พองตัวเต็มที่ ผู้ตรวจจะรู้สึกตึงท้องเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เจ็บแต่อย่างใด จากนั้นจะถอดท่อออกจากทวาร ผู้ตรวจต้องกลั้นลมไว้ให้นานจนกระทั่งการสแกนเสร็จ
ผู้รับการตรวจนอนอยู่บนเตียงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดังรูป
ภาพแสดงผู้ป่วยนอนตรวจในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตัวรับภาพเอกซเรย์ติดตั้งอยู่ภายในอุโมงรูวงแหวน (สีครีม) เมื่อเตียงตรวจเลื่อนเข้าในอุโมงวงแหวนตัวรับภาพเอกซเรย์จะหมุนไปรอบตัวผู้รับการตรวจและคอมพิวเตอร์จะแปลสัญญาณออกมาเป็นภาพตามที่ซอฟแวร์ต้องการ

เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ตรวจนอนหงายและสแกนหนึ่งครั้ง แล้วให้นอนคว่ำและสแกนภาพอีกหนึ่งครั้งก็จะเสร็จกลั้นหายใจครั้งละไม่เกิน 20 วินาที
เวลาการตรวจทั้งหมดไม่เกินครึ่งชั่วโมง
จากนั้นเจ้าหน้าที่เทคนิคจะให้ผู้ตรวจรับประทานอาหารตามปกติได้และนัดมารับทราบผลตรวจ

ตัวอย่างภาพจากซอฟแวร์ประมวลผลต่างๆ
ภาพลำไส้ใหญ่มุมมองเหมือนการผ่าลำไส้แล้วคลี่ออกให้แบนๆ สีฟ้าเล็กๆในภาพคือติ่งเนื้อที่ตรวจพบ ซึ่งต้องนัดผู้ป่วยมาส่องกล้องเพื่อตัดติ่งเนื้อไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง

ภาพในมุมมองส่องกล้อง ภาพจะเหมือนเราเดินทางเข้าไปสำรวจอุโมง (ซึ่งเป็นอุโมงลำไส้ใหญ่) เราเห็นตุ่มนูนๆ อันหนึ่ง นี่คือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ซึ่งต้องนัดมาส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์มะเร็งอีกครั้งหนึ่ง

ค่าใช้จ่าย
โดยประมาณแต่ละแห่งในโรงพยาบาลเอกชนจะมี่ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000-12,000 บาท
การตรวจนี้จะทำทุกๆ 5 ปี ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายก็จะเฉลี่ย 2000-2400 บาทต่อปี
หากแต่ละคนที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะดูแลตัวเองเช่นนี้ได้ ก็นับว่าคุณโชคดีจริงๆ เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากไม่ทราบหรือไม่มีโอกาสนี้

คุณเองก็มีโอกาสบอกเล่าความจริงนี้ให้กับคนที่คุณปรารถนาดีต่อๆไป

แล้วพบกับบทความน่าสนใจอื่นๆต่อๆไป โปรดติดตามนะครับ

อ้อ! อย่าลืมกด Like ให้ด้วยนะครับ

กลับยังหน้า สารบัญบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น