ก้อนในต่อมไทรอยด์ แบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?


ภาพที่1: แผนภาพแสดงก้อนในต่อมไทรอยด์ซ้ายที่ยังเล็ก
ภาพที่ 2 ก้อนในต่อมไทรอยด์จนสังเกตเห็นจากภายนอก
หากคุณพบก้อนในต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามบางคนตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, MRI  (ภาพที่ 1)หรือคลำพบด้วยตนเอง (ภาพที่ 2) ควรจะมาให้รังสีแพทย์ตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ เพื่อจัดกลุ่มว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากแค่ไหน

บทความนี้จะให้ทราบถึงลักษณะของก้อนจากการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์แบบต่างๆและความเสี่ยงต่อมะเร็งรวมถึงการจัดการที่แพทย์จะแนะนำให้ทำต่อไปพอสังเขป เรียงลำดับจากลักษณะที่ไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์ไปจนถึงลักษณะที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ดังต่อไปนี้

ก้อนที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (ความเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 1)

ถุงน้ำ (cyst) 

มีลักษณะก้อนที่รูปร่างกลมหรือรี มีผนังบางๆทั่วทั้งก้อนภายในถุงบางนี้มีของเหลวใสอยู่ หากเอาเข็มเจาะดูดของเหลวออกมาถุงน้ำจะยุบลง แต่ภายหลังอาจจะโตขึ้นมาอีกได้
ส่วนภาพจากอัลตร้าซาวด์ จะเห็นเป็นก้อนกลมหรือรี เห็นขอบของก้อนเรียบเนียน ส่วนสีของก้อนจะเป็นสีดำทึบเป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อนแทบจะไม่มีจุดภายในเลย ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ถุงน้ำ (cyst)ในต่อมไทรอยด์ข้างซ้าย
หากพบถุงน้ำ หมอจะไม่นัดคุณมาตรวจติดตามแต่อย่างใด

ก้อนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยมากๆ (ความเสี่ยงน้อยกว่า ร้อยละ 3) 
มีอยู่ 2 ชนิด

1.ก้อนที่คล้ายฟองน้ำ (Spongiform nodule) 
ก้อนแบบนี้ดูจากอัลตร้าซาวด์มีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ลักษณะข้างในก้อนมีทั้งส่วนที่เป็นสีดำสนิทและสีเทาปนๆกันเหมือนฟองน้ำ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 ก้อนในต่อมไทรอยด์ข้างซ้ายรูปร่างคล้ายฟองน้ำ สังเกตว่าก้อนต้องมีรูปร่างกลมหรือรี มีขอบเขตคมชัด เรียบ ภายในมีลักษระดำ (น้ำ)สลับเทา (เนื้อ)

2. ก้อนที่มีส่วนประกอบน้ำปนเนื้อ-ขอบเรียบ (Partial cystic with no suspicion feature)
ก้อนจะมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ส่วนประกอบภายในจะเห็นส่วนเนื้อมักจะเป็นบริเวณด้านนอกของก้อน ส่วนที่เป็นน้ำจะถูกส่วนเนื้อล้อมรอบ แต่อาจถูกเนื้อกั้นเป็นแอ่งๆได้ ดูเหมือนคล้ายฟองน้ำที่มีรูพรุนกว้างขึ้น ดังภาพที่ 5ด้านล่าง
ภาพที่ 5 ก้อนที่มีขอบเรียบมีส่วนประกอบของท้้งน้ำและเนื้อ ก้อนจะมีส่วนเนื้อล้อมรอบน้ำ สังเกตว่าขอบนอกของก้อนโค้งมนเรียบรอบด้าน ส่วนเนื้อนี้อาจจะยื่นเข้าไปในน้ำแบบขรุขระได้

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำมากหากมีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (ยังไม่คุ้มค่าความเสี่ยงจากการเจาะ) แต่จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนถัดไป
แต่หากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 2 เซนติเมตร ควรให้หมอเจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (อ่านเรื่อง การเจาะเซลล์ส่งตรวจมะเร็ง)

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low suspicion nodules) ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไทรอยด์อยู่ระหว่างร้อยละ 5ถึง 10
มีอยู่ 3 ชนิด

1. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (hyperechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 6 ด้านล่าง
ภาพที่ 6 ก้อนรูปไข่ ขอบเรียบ สีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ แทบจะไม่มีส่วนของน้ำ (Hyperechoic solid regular margin nodule)

ลักษณะของก้อนชนิดนี้คือ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และแทบจะไม่พบส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) เลย

2. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีเท่ากับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (isoechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 7 ด้านล่าง
ภาพที่ 7 ก้อนเนื้อรูปร่างเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ เนื้อมีสีเดียวกับเนื้อต่อมไทรอยด์ (Isoechoic solid regular margin nodule)
ก้อนมีลักษณะ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์เป็นสีเทาเหมือนกับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ที่ปกติ แทบจะไม่มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) ให้เห็นเลย

3. ถุงน้ำที่ก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic  with eccentric solid area) ดังภาพที่ 8
ภาพที่ 8 ถุงน้ำที่มีส่วนของก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic with eccentric solid area nodule) ถุงน้ำยังมีขอบเขตชัดเจน (หัวลูกศรสีเหลือง) ส่วนของก้อนเนื้อเกาะผนังด้านขวาของถุงน้ำ

ลักษณะก้อนจะเป็นถุงน้ำรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัดเรียบ ภายในถุงน้ำจะมีก้อนเนื้อเกาะอยู่ในผนังด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะไม่เกาะอยู่รอบทั่วทั้งก้อน ยิ่งหากก้อนมีเลือดเข้าไปเลี้ยงในส่วนเนื้อมากด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความสงสัยมะเร็งมากขึ้น

ก้อนทั้งสามรูปแบบนี้ หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะออกมาตรวจพิสูจน์ จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า แต่หากมีขนาดตั้งแต่ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะเซลล์พิสูจน์มะเร็ง

ก้อนที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Intermediate suspicion nodule)
ก้อนชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 10-20 ซึ่งมีชนิดเดียวคือ

ก้อนรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัด สีดำกว่าสีของเนื้อไทรอยด์ปกติ (Hypoechoic regular margin nodule) ดังภาพที่ 9
ภาพที่ 9 ก้อนขอบเขตเรียบ สีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์

ก้อนลักษณะนี้หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะพิสูจน์แต่จะนัดติดตามตรวจอัลตร้าซาวด์อีกหกเดือนข้างหน้า
หากก้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะพิสูจน์เนื้อเยื่อ

ก้อนที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (High suspicion nodule)
มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ร้อยละ 70-90
ก้อนแบบนี้จะต้องมีลักษณะร่วมกันคือ มีรูปร่างขรุขระ สีดำกว่าเนื้อของต่อมไทรอยด์จากภาพอัลตร้าซาวด์ ดังภาพที่ 10
ภาพที่ 10 ก้อนในต่อมไทรอยด์ รูปร่างขรุขระ เนื้อก้อนมีสีดำกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ

นอกจากนี้หากมีลักษณะเพิ่มเติมที่ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้นดังต่อไปนี้ (ภาพที่ 11ถึง 15)

  • มีความสูงมากกว่าความกว้าง (Taller than wide) (ภาพที่ 11)
    ภาพที่ 11 ก้อนขรุขระ มีส่วนสูงของก้อนมากกว่าความกว้างของก้อน
  • มีบางส่วนของก้อนทะลุขอบเขตต่อมไทรอยด์ (Extrathyroidal extension)(ภาพที่ 12)
    ภาพที่ 12 ก้อนเนื้อรูปร่างขรุขระ เนื้อสีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์และลักษณะการรุกล้ำออกนอกขอบเขตของต่อมไธรอยด์ (ออกนอกแนวเส้นประสีเหลือง) ไปทางด้านหน้า
  • ส่วนของก้อนมีหินปูนละเอียดกระจายอยู่เต็ม (Microcalcifications) ภาพที่ 13
    ภาพที่ 13 ก้อนที่มีสีเนื้อดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และมีจุดหินปูนเล็กๆสีขาวจำนวนมาก (Microcalcifications) อยู่ภายในก้อน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • ถ้าก้อนมีหินปูนโค้งที่ขอบก้อนและมีเนื้อเยื่อของก้อนดันหินปูนแตกจนบางส่วนของก้อนเนื้อยื่นออกนอกขอบของหินปูนออกไป (Interrupted rim calcification with soft tissue extrusion) ดังภาพที่ 14
    ภาพที่ 14 ก้อนที่มีหินปูนเป็นขอบสีขาวอยู่แต่เดิม แต่ขณะนี้ก้อนดันให้ขอบหินปูนด้านหน้าแต่กออกและชิ้นขอบหินปูนด้านหน้าถูกดันเลื่อนออกมาด้านหน้า (ลูกศรสีเหลือง) นอกจากนี้จะสังเกตเห็นส่วนของเนื้องอกโผล่อยู่นอกแนวหินปูน (ลูกศรขาว) ยืนยันว่าก้อนมีการรุกล้ำออกนอกแนวก้อนเดิม ซึ่งเป็น่ลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต  (Regional enlarged lymph node) ภาพที่ 15
    ภาพที่ 15 ลูกศรเฉียงแสดงตำแหน่งก้อนขรุขระที่เล็กอยู่ภายในต่อมไทรอยด์กลีบซ้าย แม้จะมีขนาดเล็กแต่ได้กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง (ลูกศรแนวตั้ง) เรียบร้อยแล้ว

ลักษณะเหล่านี้ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วก้อนที่มีลักษณะเหล่านี้จะมีขนาดเกิน 1 เซนติเมตรแล้ว หมอจะเจาะเก็บเซลล์ไปพิสูจน์มะเร็ง

หลังจากแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ อธิบายลักษณะของก้อนรวมทั้งขนาด ตำแหน่งที่พบ เรียบร้อยแล้ว จะให้ความเห็นในย่อหน้าสรุปอีกครั้ง ให้สังเกตบรรทัดสรุปท้ายๆว่า ลงความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงแบบไหน? และแนะนำให้เจาะ หรือให้ตรวจอัลตร้าซาวด์ติดตามผล
ดังตัวอย่างเช่น

  • ตัวอย่างที่ 1 Impression: Low suspicion nodule less than 1.5 cm in diameter, 6-month follow-up Ultrasound is recommended. แปลว่า ก้อนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับต่ำที่ยังเล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร แนะนำให้ติดตามการตรวจอัลตร้าซาวด์ก้อนในต่อมไทรอยด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า
  • ตัวอย่างที่ 2 Impression: High suspicion nodule more than 1. cm in diameter, fine needle biopsy is recommended. แปลว่า ก้อนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับสูงที่ขนาดเกินกว่า 1.0 เซนติเมตร แนะนำให้เจาะเก็บเซลล์จากก้อนพิสูจน์มะเร็ง

หวังว่าท่านผู้อ่านจะพอเข้าใจแนวทางของการรายงานผลของแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ของก้อนในต่อมไทรอยด์ให้กับท่านและสามารถใช้บทความนี้ในการทบทวนผลอัลตร้าซาวด์ของคุณเองได้นะครับ

ข้อมูล อ้างอิง จากแนวทางการดูแลก้อนในต่อมไทรอยด์ในผู้ใหญ่โดยสมาคมไทรอยด์แห่งอเมริกา (American Thyroid Association ManagementGuidelines for Adult Patients with Thyroid Nodulesand Differentiated Thyroid Cancer)


กลับสู่หน้า สารบัญบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น