หินปูนในเต้านม (Breast calcifications)

ในภาพเอกซเรย์เต้านมถ้าปกติจะไม่พบรอยหินปูนเลย แต่การพบหินปูน หรือบางคนเรียก แคลเซียม ในภาพเอกซเรย์เต้านม (Mammograms) ก็มีหลายลักษณะ ทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม เรามารู้จักชนิดของหินปูนแต่ละชนิดพอสังเขปกันเถอะ

หินปูนที่สงสัยมะเร็ง

หินปูนที่สงสัยมะเร็งแบบที่หนึ่ง (Fine Linear and Fine linear branching calcifications) 
หินปูนที่รูปร่างเป็นขีดละเอียด หรือเป็นขีดละเอียดเรียงตัวคล้ายกิ่งก้าน

Fine linear and fine linear branching calcifications



ภาพเอกซเรย์เต้านมนี้แสดงให้เห็นกลุ่มของหินปูน (สีขาว)ซึ่งส่วนใหญ่จะรูปร่างเป็นขีดหรือแท่ง แต่ละแท่งจะเรียงตัวกันคล้ายเส้นตรง หรือแตกแขนงเป็นกิ่งเหมือนกิ่งไม้ ถ้าของใครมีลักษณะแบบนี้ละก็สงสัยมะเร็งเต้านม ซึ่งแพทย์จะต้องนัดมาเจาะเอาเนื้อบริเวณนี้มาพิสูจน์ให้แน่ชัดครับ


หินปูนที่สงสัยมะเร็งแบบที่สอง Fine pleomorphic calcifications  กลุ่มหินปูนละเอียดที่มีรูปร่างหลายๆแบบ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นขีดบ้าง เป็นจุดบ้าง และจุดบางอันก็ไม่ได้กลมเหมือนกันเหมด ดังภาพด้านล่าง



Fine pleomorphic calcifications

หินปูนลักษณะนี้สงสัยมะเร็งมากครับ จึงต้องให้แพทย์เจาะเก็บเนื้อเยื่อบริเวณนี้มาตรวจพิสูจน์มะเร็งต่อไป


หินปูนสงสัยมะเร็งแบบที่สาม Amorphous calcifications

กลุ่มหินปูนที่เราเห็นได้ลางๆจึงเห็นรูปร่างได้ไม่ชัดเจนดังภาพด้านล่าง


Amorphous microcalcifications


สังเกตในวงกลมจะพบ หินปูนมีขนาดเล็กมาก (จำนวนมากกว่า 5 จุดขึ้นไป) และสีจางมากจนเราไม่สามารถเป็นรูปร่างของมันได้อย่างชัดเจน จึงไม่สามารถอธิบายรูปร่างลักษณะของมันได้ ลักษณะอย่างนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งหรือเป็นภาวะที่ไม่เป็นมะเร็งก็ได้ อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ ถ้าตัดประเด็นโรคร้ายแรงออกไม่ได้ก็ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดเสียก่อน โดยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อบริเวณนั้นไปส่งตรวจครับ




หินปูนสงสัยมะเร็งชนิดที่สี่ 
Coarse heterogeneous calcifications
หินปูนชนิดหยาบ ขอบชัด รูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ดังภาพ
Coarse heterogeneous calcifications



หินปูนนี้มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 มิลลิเมตร ขอบเขตเห็นได้ชัด แต่มีรูปร่างหลายแบบ และขนาดไม่เท่ากันอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือหย่อม ถ้าพบลักษณะแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ใช่ก็ได้ จัดได้ว่ากลางๆระหว่างใช่หรือไม่ใช่มะเร็ง แต่ทางการแพทย์ถ้ามีโอกาสเป็นโรคร้ายแรง ต้องพิสูจน์ให้ทราบแน่ชัด โดยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อที่มีหินปูนเหล่านี้มาพิสูจน์มะเร็ง


หินปูนที่สงสัยมะเร็งน้อย
Round and punctate microcalcifications 
หินปูนขนาดเล็กขอบชัด มีขนาดใกล้เคียงกัน รูปร่างกลมเหมือนรูเข็ม (จินตนาการเหมือนรูเข็มที่เจาะด้วยเข็มขนาดเดียวกันบนกระดาษ) ดังรูปด้านล่าง

Round punctate microcalcifications

ถ้าแพทย์พบหินปูนลักษณะเช่นนี้ จะนัดติดตามการตรวจเอกซเรย์เต้านมใกล้ชิดคือนัดถัดไปอีกหกเดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะว่าจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่นที่น่าสงสัยมะเร็งหรือไม่ หากเปลี่ยนแปลงไปทางสงสัยมะเร็ง ครั้งหน้าแพทย์ต้องนัดเจาะเก็บเนื้อเยื่อมาพิสูจน์มะเร็ง หากไม่เปลี่ยนแปลงอาจนัดตรวจแมมโมแกรม (Mammograms) ทุกหกเดือนเป็นเวลาสามปี จนแน่ใจว่าไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอนแล้วหรือหินปูนลดลง จะนัดตรวจเอกซเรย์เต้านมระยะเวลาห่างขึ้น



หินปูนที่ไม่สงสัยมะเร็ง (Benign calcifications)

หินปูนที่ไม่สงสัยมะเร็งชนิดที่หนึ่ง 
Milk of calcium 
เป็นหินปูนที่ตกตะกอนอยู่ในหน่วยต่อมน้ำนม (ลองนึกถึงภาพถ้วยวางหงายอยู่ในถังน้ำใสๆ หากคุณมองถ้วยจากด้านบนคุณจะเห็นถ้วยเป็นรูปวงกลม หากคุณมองถ้วยจากด้านข้างคุณจะเห็นถ้วยรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยวหงาย เช่นกัน หินปูนที่ตกตะกอนอยู่ในหน่วยของต่อมน้ำนมให้ลักษณะที่ท่าที่เอกซเรย์คล้ายตัวอย่างที่ยกมา ดังนี้

เอกซเรย์เต้านมในแนว บน-ล่าง (Craniocaudad position)


เอกซเรย์เต้านมในแนว ใน-นอก เอียง (Mediolateral oblique position)
ภาพของหินปูน milk of calcium ในต่อมน้ำนมในมุมมองบน-ล่าง จะเห็นหินปูนรูปร่างวงกลม ขณะที่ภาพหินปูนในแนวมุมมองด้านข้างจะเห็นหินปูนรูปถ้วยหงาย
เมื่อเราเอกซเรย์เต้านมในแนวบน-ล่าง ดังภาพ เราจะเห็นแคลเซียมเป็นรูปกลม แต่เมื่อถ่ายเอกซเรย์ในท่าเอียงด้านข้าง เราจะเป็นหินปูนที่ตกตะกอนในแอ่ง รูปร่างเหมือนถ้วย แต่ในภาพเอกซเรย์ จะเล็กมาก ต้องขยายภาพอีก ดังภาพด้านล่าง
ภาพแมมโมแกรมแบบขยาย แสดงหินปูน milk of calcium แนวบนล่าง (ภาพซ้าย) และแนวด้านข้างใน-นอกเอียง (ภาพขวา)

ถ้าพบหินปูน ชนิด milk of calcium รังสีแพทย์จะรายงานผลออกมาว่าไม่เป็นอันตราย การนัดหมายตรวจเอกซเรย์เต้านมจึงเป็นหนึ่งปีเหมือนคนที่ผลปกติเลย


หินปูนชนิดไม่ใช่มะเร็งชนิดที่สอง “หินปูนที่ผิวหนัง (Dermal calcification) หินปูนที่ผิวหนังเราจะเห็นอยู่ขอบๆของภาพ อยู่ในที่ตื้นๆ ดังภาพด้านล่าง

หินปูนที่ผิวหนัง (Dermal calcifications)


หินปูนชนิดนี้เกิดในผิวหนัง ไม่ได้เกิดในชั้นเต้านม ถ้าแพทย์พบแพทย์จะรายงานผลว่าไม่เป็นอันตรายและตรวจปีต่อไปตามปกติเช่นคนที่ไม่พบอะไรเลย

หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่สาม 
“หินปูนของหลอดเลือดในเต้านม (Vascular calcification)” 
ดังภาพด้านล่าง
หินปูนของหลอดเลือดในเต้านม (Vascular calcifications)

หินปูนที่จับผนังหลอดเลือดในเต้านมจะมีลักษณะสีขาวเป็นรูปท่อยาวในภาพเอกซเรย์เต้านม หรือมีลักษณะเป็นเส้นขาวคู่ขนานกัน ไม่เป็นอันตราย แพทย์จะนัดตรวจเอกซเรย์เต้านมปีต่อไป



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่สี่ “หินปูนรูปร่างเหมือนข้าวโพดคั่ว (Pop corn liked calcification) 
ภาพหินปูนลักษณะคล้ายข้าวโพดคั่วในภาพแมมโมแกรมเต้านมข้างซ้าย



หินปูนชนิดนี้จะเกิดในเนื้องอกชนิดไม่ร้ายชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเนื้อเต้านม ชื่อ ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เนื้องอกชนิดนี้มีได้หลายขนาด เมื่อเวลาผ่านไปเนื้องอกจะเสื่อมฝ่อลงและมีหินปูนลักษณะเหมือนข้าวโพดคั่วเกิดขึ้นได้ ถ้าเห็นลักษณะหินปูนเช่นนี้ก็มั่นใจได้ว่า ไม่เป็นอันตรายแน่นอน แพทย์จะนัดตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะเวลาปกติเลย



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่ห้า “หินปูนรูปแท่ง
ขนาดใหญ่ 
(Large rod-liked calcifications)

หินปูนรูปแท่งขนาดใหญ่ (Large rod-liked calcifications)

หินปูนนี้มีรูปร่างเป็นแท่งขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร เพราะเป็นหินปูนที่เกิดในท่อน้ำนมที่ขยายตัวขึ้น จะเรียงตัวกันใกล้หรือเข้าหาหัวนม มักพบทั้งสองข้างและในคนสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไป บางครั้งจะเข้าใจสับสนกับหินปูนรูปร่างเป็นขีดขนาดเล็กซึ่งสงสัยมะเร็ง แต่หินปูนรูปแท่งขนาดใหญ่จะไม่ใช่หินปูนมะเร็งเลย ผู้หญิงที่มีหินปูนชนิดนี้จึงสามารถตรวจแมมโมแกรมปีละครั้งเหมือนคนปกติ


หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่หก “หินปูนรูปเปลือกไข่ (Eggshell calcification)
หินปูนรูปเปลือกไข่ (Egg-shelled calcification)
มักจะเกิดจากเม็ดไขมันที่ไม่มีชีวิตแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีรูปทรงรูปไข่ และเกิดหินปูนจับที่ขอบนอกของเม็ดไขมันนี้จึงมองเห็นเป็นเส้นโค้งบางๆเป็นรูปวงรี เต็มวงบ้างหรือไม่เต็มวงบ้างก็ได้ ส่วนใหญ่จะขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร ไปจนกระทั่งขนาดเป็นเซนติเมตรก็พบได้ ไม่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ถ้าตรวจพบแพทย์จะไม่ต้องนัดพิเศษใดๆ



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่เจ็ด “หินปูนขรุขระขนาดใหญ่จากเนื้อเยื่อสลาย (Dystrophic calcification)
ภาพแมมโมแกรม แสดงลักษณะของหินปูนชนิดขรุขระจากเนื้อเยื่อสลาย (Dystrophic calcifications)

หินปูนชนิดนี้มีขนาดใหญ่ รูปร่างเหมือนก้อนหินขรุขระมาก บางคนจินตนาการว่าเหมือน หินลาวาขรุขระ ส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อตายและเปลี่ยนแปลงไปจนมีหินปูนมาจับ จึงมักพบหลังจากเต้านมได้รับการฉายรังสีรักษาหรือบาดเจ็บของเต้านมมาแล้วประมาณ 3 ถึง 5 ปี อย่าเข้าใจผิดว่าเหมือนหินปูนมะเร็ง หรือเห็นว่าขรุขระแล้วจะดูแล้วอันตราย ทางการแพทย์หากพบลักษณะเช่นนี้ร่วมกับประวัติเคยได้รับการฉายรังสีรักษามาก่อนก็แน่ใจได้ว่า เป็นหินปูนชนิดไม่ร้ายแรง สามารถตรวจแมมโมแกรมประจำปีเหมือนคนที่ปกติไม่พบอะไรได้เลยครับ


กลับสู่ สารบัญบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น