ก้อนในเต้านมบนภาพแมมโมแกรม

การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือ แมมโมกราฟฟี่ (Mammography) จุดประสงค์หลักเพื่อค้นหารอยโรคที่สงสัยมะเร็งเต้านม ที่จะได้รับการพิสูจน์ด้วยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อพิสูจน์ต่อไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้ทราบถึงลักษณะก้อนชนิดต่างๆที่ไม่สงสัยมะเร็ง,สงสัยมะเร็งและกลุ่มที่ยังก้ำกึ่งต้องตรวจให้แน่ชัดขึ้นไปอีก

เช่นที่เคยเขียนในบทความก่อนหน้านี้ว่า การเห็นก้อนในเต้านมชัดหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น
ความแตกต่างของสี ก้อนนี้ให้สีขาวเช่นเดียวกันกับเนื้อเต้านมซึ่งจะถูกบดบังได้ หรือเป็นสีเทาซึ่งแตกต่างจากเนื้อเยื่อเต้านมทำให้มองเห็นก้อนได้ชัด
ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม ถ้ามีมากอาจจะยิ่งบดบังก้อนที่มีสีขาวได้มากขึ้นได้ ดังรูปด้านล่าง
ภาพแสดงความหนาแน่นเนื้อเยื่อเต้านมที่มากขึ้นมีโอกาสบดบังก้อนในภาพแมมโมแกรมมากขึ้น

ตำแหน่งของก้อน อาจจะอยู่นอกบริเวณที่เอกซเรย์ อาจจะทำให้แพทย์ไม่เห็นก้อนได้

ลักษณะของก้อนเนื้อที่ไม่สงสัยมะเร็งบนภาพแมมโมแกรม


กรณีที่เห็นก้อนชัดในแมมโมแกรม แบบไหนที่ไม่ต้องอัลตร้าซาวด์ซ้ำแล้ว มี
ดังต่อไปนี้
ก้อนเป็นไขมันล้วน (Lipoma) ลักษณะก้อนไขมันในภาพแมมโมแกรมจะเป็นสีเทาเหมือนสีของเนื้อเยื่อไขมัน แต่จะสังเกตเห็นขอบสีขาวบางๆ หรือร่องรอยกดเบียดเนื้อเยื่อเต้านมปกติ ดังรูป 
ภาพแมมโมแกรมแสดงก้อนไขมันในเต้านมข้างซ้ายมีสีเทาเช่นเดียวกันชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
ก้อนที่ขอบเขตชัดเจนเป็นก้อนเนื้อสีขาวแต่ก็มีเนื้อเยื่อไขมันผสมอยู่ด้วย (Hamartoma) บางครั้งก็จะมีส่วนประกอบหินปูนสีขาวขนาดใหญ่อยู่ข้างในด้วย จึงเป็นก้อนมีเนื้อสีผสมระหว่างสีขาว (เนื้อเยื่อ) และสีเทา (ไขมัน) และ/หรือหินปูน (สีขาวทึบ)ดังภาพด้านล่าง
Hamartoma ก้อนขอบเขตเรียบที่มีส่วนผสมของเนื้อเยื่อสีขาวและสีเทา(ไขมัน)




ก้อนเนื้อขอบเขตเรียบชัดเจนและมีหินปูนรูปร่างเหมือนข้าวโพดคั่วข้างใน (Involuted fibroadenoma) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย เกิดจากเนื้อเยื่อบุโครงสร้างเต้านมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่มีการลุกลาม เมื่อนานวันใจกลางของก้อนเสื่อมลงและมีหินปูนแบบข้าวโพดคั่ว (Popcorn-liked calcification) มาแทนที่ ดังรูป 
Involuted fibroadenomaก้อนเนื้องอกขอบชัดข้างในมีหินปูนขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายข้าวโพดคั่ว
ในบางรายเราจะเห็นแต่รอยหินปูนแบบข้าวโพดคั่วโดยไม่สามารถเห็นตัวก้อนเลยก็ได้


ลักษณะก้อนที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

มีลักษณะดังต่อไปนี้

ขอบก้อนมีหยักมากกว่าสี่หยัก (Microlobulated margins) 

รูปร่างและขอบขรุขระ (irregular shape)

ขอบก้อนเป็นหนามแหลม (Spiculated margins)


ส่วนก้อนเนื้อที่ไม่เห็นลักษณะเฉพาะดังกล่าวข้างต้น แก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.       เอกซเรย์หลายๆแนวเพิ่มเติม
2.       ตรวจเพิ่มเติมด้วยอัลตร้าซาวด์
ก้อนเนื้อที่มีลักษณะกลางหรือเห็นในภาพแมมโมแกรมยังไม่ครบ ไม่ชัด ต้องอาศัยการตรวจอัลตร้าซาวด์เพิ่มเติม เพื่อที่จะแยกแยะความสงสัยมะเร็งต่อไป ดังจะกล่าวในหัวข้ออัลตร้าซาวด์ก้อนในเต้านมครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น