ก้อนในต่อมไทรอยด์ แบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?


ภาพที่1: แผนภาพแสดงก้อนในต่อมไทรอยด์ซ้ายที่ยังเล็ก
ภาพที่ 2 ก้อนในต่อมไทรอยด์จนสังเกตเห็นจากภายนอก
หากคุณพบก้อนในต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามบางคนตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, MRI  (ภาพที่ 1)หรือคลำพบด้วยตนเอง (ภาพที่ 2) ควรจะมาให้รังสีแพทย์ตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ เพื่อจัดกลุ่มว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากแค่ไหน

บทความนี้จะให้ทราบถึงลักษณะของก้อนจากการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์แบบต่างๆและความเสี่ยงต่อมะเร็งรวมถึงการจัดการที่แพทย์จะแนะนำให้ทำต่อไปพอสังเขป เรียงลำดับจากลักษณะที่ไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์ไปจนถึงลักษณะที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ดังต่อไปนี้

ก้อนที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (ความเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 1)

ถุงน้ำ (cyst) 

มีลักษณะก้อนที่รูปร่างกลมหรือรี มีผนังบางๆทั่วทั้งก้อนภายในถุงบางนี้มีของเหลวใสอยู่ หากเอาเข็มเจาะดูดของเหลวออกมาถุงน้ำจะยุบลง แต่ภายหลังอาจจะโตขึ้นมาอีกได้
ส่วนภาพจากอัลตร้าซาวด์ จะเห็นเป็นก้อนกลมหรือรี เห็นขอบของก้อนเรียบเนียน ส่วนสีของก้อนจะเป็นสีดำทึบเป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อนแทบจะไม่มีจุดภายในเลย ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ถุงน้ำ (cyst)ในต่อมไทรอยด์ข้างซ้าย
หากพบถุงน้ำ หมอจะไม่นัดคุณมาตรวจติดตามแต่อย่างใด

ก้อนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยมากๆ (ความเสี่ยงน้อยกว่า ร้อยละ 3) 
มีอยู่ 2 ชนิด

1.ก้อนที่คล้ายฟองน้ำ (Spongiform nodule) 
ก้อนแบบนี้ดูจากอัลตร้าซาวด์มีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ลักษณะข้างในก้อนมีทั้งส่วนที่เป็นสีดำสนิทและสีเทาปนๆกันเหมือนฟองน้ำ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 ก้อนในต่อมไทรอยด์ข้างซ้ายรูปร่างคล้ายฟองน้ำ สังเกตว่าก้อนต้องมีรูปร่างกลมหรือรี มีขอบเขตคมชัด เรียบ ภายในมีลักษระดำ (น้ำ)สลับเทา (เนื้อ)

2. ก้อนที่มีส่วนประกอบน้ำปนเนื้อ-ขอบเรียบ (Partial cystic with no suspicion feature)
ก้อนจะมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ ส่วนประกอบภายในจะเห็นส่วนเนื้อมักจะเป็นบริเวณด้านนอกของก้อน ส่วนที่เป็นน้ำจะถูกส่วนเนื้อล้อมรอบ แต่อาจถูกเนื้อกั้นเป็นแอ่งๆได้ ดูเหมือนคล้ายฟองน้ำที่มีรูพรุนกว้างขึ้น ดังภาพที่ 5ด้านล่าง
ภาพที่ 5 ก้อนที่มีขอบเรียบมีส่วนประกอบของท้้งน้ำและเนื้อ ก้อนจะมีส่วนเนื้อล้อมรอบน้ำ สังเกตว่าขอบนอกของก้อนโค้งมนเรียบรอบด้าน ส่วนเนื้อนี้อาจจะยื่นเข้าไปในน้ำแบบขรุขระได้

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำมากหากมีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (ยังไม่คุ้มค่าความเสี่ยงจากการเจาะ) แต่จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนถัดไป
แต่หากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 2 เซนติเมตร ควรให้หมอเจาะมาพิสูจน์มะเร็ง (อ่านเรื่อง การเจาะเซลล์ส่งตรวจมะเร็ง)

ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low suspicion nodules) ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไทรอยด์อยู่ระหว่างร้อยละ 5ถึง 10
มีอยู่ 3 ชนิด

1. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (hyperechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 6 ด้านล่าง
ภาพที่ 6 ก้อนรูปไข่ ขอบเรียบ สีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ แทบจะไม่มีส่วนของน้ำ (Hyperechoic solid regular margin nodule)

ลักษณะของก้อนชนิดนี้คือ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นสีขาวกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และแทบจะไม่พบส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) เลย

2. ก้อนขอบเรียบชัด มีสีเท่ากับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ (isoechoic solid regular margin nodule)
ดังภาพที่ 7 ด้านล่าง
ภาพที่ 7 ก้อนเนื้อรูปร่างเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ เนื้อมีสีเดียวกับเนื้อต่อมไทรอยด์ (Isoechoic solid regular margin nodule)
ก้อนมีลักษณะ รูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตชัด เนื้อภายในภาพอัลตร้าซาวด์เป็นสีเทาเหมือนกับสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ที่ปกติ แทบจะไม่มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำ (สีดำ) ให้เห็นเลย

3. ถุงน้ำที่ก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic  with eccentric solid area) ดังภาพที่ 8
ภาพที่ 8 ถุงน้ำที่มีส่วนของก้อนเนื้อเกาะอยู่ภายในผนังด้านใดด้านหนึ่ง (Partially cystic with eccentric solid area nodule) ถุงน้ำยังมีขอบเขตชัดเจน (หัวลูกศรสีเหลือง) ส่วนของก้อนเนื้อเกาะผนังด้านขวาของถุงน้ำ

ลักษณะก้อนจะเป็นถุงน้ำรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัดเรียบ ภายในถุงน้ำจะมีก้อนเนื้อเกาะอยู่ในผนังด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะไม่เกาะอยู่รอบทั่วทั้งก้อน ยิ่งหากก้อนมีเลือดเข้าไปเลี้ยงในส่วนเนื้อมากด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความสงสัยมะเร็งมากขึ้น

ก้อนทั้งสามรูปแบบนี้ หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะออกมาตรวจพิสูจน์ จะนัดติดตามอัลตร้าซาวด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า แต่หากมีขนาดตั้งแต่ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะเซลล์พิสูจน์มะเร็ง

ก้อนที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Intermediate suspicion nodule)
ก้อนชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 10-20 ซึ่งมีชนิดเดียวคือ

ก้อนรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบชัด สีดำกว่าสีของเนื้อไทรอยด์ปกติ (Hypoechoic regular margin nodule) ดังภาพที่ 9
ภาพที่ 9 ก้อนขอบเขตเรียบ สีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์

ก้อนลักษณะนี้หากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 เซนติเมตร หมอจะยังไม่เจาะพิสูจน์แต่จะนัดติดตามตรวจอัลตร้าซาวด์อีกหกเดือนข้างหน้า
หากก้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป หมอจะเจาะพิสูจน์เนื้อเยื่อ

ก้อนที่เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (High suspicion nodule)
มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ร้อยละ 70-90
ก้อนแบบนี้จะต้องมีลักษณะร่วมกันคือ มีรูปร่างขรุขระ สีดำกว่าเนื้อของต่อมไทรอยด์จากภาพอัลตร้าซาวด์ ดังภาพที่ 10
ภาพที่ 10 ก้อนในต่อมไทรอยด์ รูปร่างขรุขระ เนื้อก้อนมีสีดำกว่าสีของเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ

นอกจากนี้หากมีลักษณะเพิ่มเติมที่ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้นดังต่อไปนี้ (ภาพที่ 11ถึง 15)

  • มีความสูงมากกว่าความกว้าง (Taller than wide) (ภาพที่ 11)
    ภาพที่ 11 ก้อนขรุขระ มีส่วนสูงของก้อนมากกว่าความกว้างของก้อน
  • มีบางส่วนของก้อนทะลุขอบเขตต่อมไทรอยด์ (Extrathyroidal extension)(ภาพที่ 12)
    ภาพที่ 12 ก้อนเนื้อรูปร่างขรุขระ เนื้อสีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์และลักษณะการรุกล้ำออกนอกขอบเขตของต่อมไธรอยด์ (ออกนอกแนวเส้นประสีเหลือง) ไปทางด้านหน้า
  • ส่วนของก้อนมีหินปูนละเอียดกระจายอยู่เต็ม (Microcalcifications) ภาพที่ 13
    ภาพที่ 13 ก้อนที่มีสีเนื้อดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และมีจุดหินปูนเล็กๆสีขาวจำนวนมาก (Microcalcifications) อยู่ภายในก้อน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • ถ้าก้อนมีหินปูนโค้งที่ขอบก้อนและมีเนื้อเยื่อของก้อนดันหินปูนแตกจนบางส่วนของก้อนเนื้อยื่นออกนอกขอบของหินปูนออกไป (Interrupted rim calcification with soft tissue extrusion) ดังภาพที่ 14
    ภาพที่ 14 ก้อนที่มีหินปูนเป็นขอบสีขาวอยู่แต่เดิม แต่ขณะนี้ก้อนดันให้ขอบหินปูนด้านหน้าแต่กออกและชิ้นขอบหินปูนด้านหน้าถูกดันเลื่อนออกมาด้านหน้า (ลูกศรสีเหลือง) นอกจากนี้จะสังเกตเห็นส่วนของเนื้องอกโผล่อยู่นอกแนวหินปูน (ลูกศรขาว) ยืนยันว่าก้อนมีการรุกล้ำออกนอกแนวก้อนเดิม ซึ่งเป็น่ลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต  (Regional enlarged lymph node) ภาพที่ 15
    ภาพที่ 15 ลูกศรเฉียงแสดงตำแหน่งก้อนขรุขระที่เล็กอยู่ภายในต่อมไทรอยด์กลีบซ้าย แม้จะมีขนาดเล็กแต่ได้กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง (ลูกศรแนวตั้ง) เรียบร้อยแล้ว

ลักษณะเหล่านี้ยิ่งทำให้สงสัยมะเร็งมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วก้อนที่มีลักษณะเหล่านี้จะมีขนาดเกิน 1 เซนติเมตรแล้ว หมอจะเจาะเก็บเซลล์ไปพิสูจน์มะเร็ง

หลังจากแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ อธิบายลักษณะของก้อนรวมทั้งขนาด ตำแหน่งที่พบ เรียบร้อยแล้ว จะให้ความเห็นในย่อหน้าสรุปอีกครั้ง ให้สังเกตบรรทัดสรุปท้ายๆว่า ลงความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงแบบไหน? และแนะนำให้เจาะ หรือให้ตรวจอัลตร้าซาวด์ติดตามผล
ดังตัวอย่างเช่น

  • ตัวอย่างที่ 1 Impression: Low suspicion nodule less than 1.5 cm in diameter, 6-month follow-up Ultrasound is recommended. แปลว่า ก้อนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับต่ำที่ยังเล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร แนะนำให้ติดตามการตรวจอัลตร้าซาวด์ก้อนในต่อมไทรอยด์ในอีกหกเดือนข้างหน้า
  • ตัวอย่างที่ 2 Impression: High suspicion nodule more than 1. cm in diameter, fine needle biopsy is recommended. แปลว่า ก้อนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งระดับสูงที่ขนาดเกินกว่า 1.0 เซนติเมตร แนะนำให้เจาะเก็บเซลล์จากก้อนพิสูจน์มะเร็ง

หวังว่าท่านผู้อ่านจะพอเข้าใจแนวทางของการรายงานผลของแพทย์ที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ของก้อนในต่อมไทรอยด์ให้กับท่านและสามารถใช้บทความนี้ในการทบทวนผลอัลตร้าซาวด์ของคุณเองได้นะครับ

ข้อมูล อ้างอิง จากแนวทางการดูแลก้อนในต่อมไทรอยด์ในผู้ใหญ่โดยสมาคมไทรอยด์แห่งอเมริกา (American Thyroid Association ManagementGuidelines for Adult Patients with Thyroid Nodulesand Differentiated Thyroid Cancer)


กลับสู่หน้า สารบัญบทความ

MRI เต้านม ควรทำในกรณีใด?

ภาพรวม

MRI (Magnetic resonance imaging) ของเต้านมเป็นการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมและความผิดปกติต่างๆของเต้านม
MRI จะอาศัยหลักฟิสิกส์ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสแกนส่วนของร่างกายในที่นี้คือเต้านมและให้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนเป็นภาพของอวัยวะรวมทั้งรอยโรคได้
MRI ของเต้านมมักจะใช้ตรวจหลังจากที่คุณทราบผลมะเร็งจากการเจาะเนื้อเยื่อแล้ว และแพทย์ต้องการทราบข้อมูลการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณใกล้เคียง 
นอกจากนี้สำหรับบางราย เรายังใช้ MRI ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม (Mammograms) ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่นประวัติมะเร็งเต้านมในญาติสายเลือดใกล้ชิด, มียีนพันธุกรรมที่จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง

ทำไมต้องตรวจ MRI เต้านม

คุณหมอของคุณอาจจะแนะนำให้ตรวจ MRI เต้านมในกรณีต่อไปนี้:
  • คุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมและแพทย์ต้องการจะเห็นการแพร่กระจายของมะเร็งไปบริเวณใกล้เคียงอย่างไรบ้าง
  • สงสัยการรั่วหรือแตกของถุงซิลิโคนที่เสริมเต้านม
  • คุณมีปัจจัยเสี่ยงสูงที่เกิดมะเร็งเต้านมตามที่คำนวณจากปัจจัยเสี่ยงทางครอบครัวและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • คุณมีประวัติคนในครอบครัวสายเลือดใกล้ชิด (แม่ พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • เต้านมของคุณมีเนื้อนมหนาแน่นมากจนแมมโมแกรมไม่สามารถเห็นก้อนมะเร็งเต้านมของคุณได้
  • คุณมีประวัติของรอยผิดปกติในเต้านมที่จะกำลังจะก่อตัวเป็นมะเร็งในอนาคต ดังเช่น atypical hyperplasia, Lobular carcinoma in situ และประวัติเสี่ยงสูงในครอบครัวร่วมกับมีเนื้อเต้านมหนาแน่นมาก
  • คุณมียีนกลายพันธุ์ชนิด BRCA1 หรือ BRCA2 ที่เสี่ยงมสูงมากที่จะเกิดมะเร็งในอนาคต
  • คุณได้รับฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอกตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี
หากคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงให้คุณ
MRI ของเต้านมมีจุดประสงค์ในการตรวจควบคู่ไปกับแมมโมแกรมหรือการตรวจภาพเต้านมวิธีอื่นๆ ไม่ได้มุ่งหมายมาใช้ทดแทนการตรวจแมมโมแกรม แม้ว่ามันจะมีความไวในการตรวจจับความผิดปกติมาก แต่มันก็ยังพลาดมะเร็งเต้านมบางลักษณะที่ตรวจจับได้ด้วยแมมโมแกรม

ความเสี่ยงจากการตรวจ

MRI เต้านมไม่เสี่ยงต่อการรับรังสีเอ็กซเรย์ แต่มีความเสี่ยงในเรื่องต่อไปนี้:
  • ผลบวกลวง. MRI อาจตรวจพบรอยผิดปกติที่สงสัยมะเร็งเต้านมแต่ภายหลังพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นเช่น อัลตร้าซาวด์เต้านมหรือเจาะเก็บเนื้อเยื่อตรวจแล้วเป็นรอยผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ เราเรียกกรณีว่า ผลบวกลวง ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความวิตกกังวลแก่คุณ
  • แพ้ยาที่ฉีดขณะตรวจ MRI. ในขั้นตอนการตรวจ MRI เต้านมจะต้องฉีดสารที่เสริมให้เห็นมะเร็งเต้านมง่ายขึ้น (contrast media) แต่สารนี้ก็อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ยาได้และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้มีการทำงานของไตบกพร่องอยู่ก่อนแล้วได้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ MRI ของเต้านม

ทำตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้:
  • ควรจัดเวลาตรวจในช่วงเริ่มต้นของรอบประจำเดือน  หากคุณยังอยู่ในวัยมีรอบเดือน ทางศูนย์ MRI จะจัดเวลาตรวจให้ตรงกับช่วงวันที่ 3-14 ของรอบเดือน โดยนับวันที่มีรอบเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1
  • แจ้งการแพ้ยาของคุณให้แพทย์ทราบ. การตรวจ MRI มักจะฉีดสารเคมีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อทำให้เห็นภาพมะเร็งชัดเจนขึ้นง่ายต่อการตรวจพบ การแจ้งประวัติแพ้ยาใดๆให้แพทย์ทราบช่วยให้แพทย์วางแผนดำเนินการที่เหมาะสมต่อไปได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบกรณีที่คุณมีปัญหาไตเสื่อมการทำงาน. สารเคมีที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขณะทำ MRI อาจส่งผลให้การทำงานไตแย่ลงอีกได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนงานที่เหมาะสมต่อไป
  • แจ้งแพทย์หากคุณกำลังตั้งครรภ์. โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ตรวจ MRI ที่ต้องฉีดสาร gadolinium contrast ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยต่อทารก
  • แจ้งแพทย์หากคุณต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. แม้ว่าจะมีข้อมูลว่าสาร gadolinium ในน้ำนมแม่จะเสี่ยงต่อทารกน้อยมาก หากคุณยังคงกังวลอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้คุณหยุดการให้นมบุตรด้วยนมแม่หลังการตรวจ MRI เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้ร่างกายคุณขับสารเคมีออกก่อน คุณอาจจะปั๊มนมออกจากเต้านมและทิ้งไปก่อน แต่ก่อนการตรวจ MRI คุณสามารถปั๊มน้ำนมเก็บไว้ก่อนได้
  • อย่าสวมใส่วัสดุที่เป็นโลหะขณะตรวจ MRI . วัสดุทำจากโลหะ เช่น เครื่องประดับ, ปิ่นปักผมและนาฬิกาข้อมืออาจเสียหายได้จากการตรวจ MRI จึงไม่ควรติดวัสดุเหล่านี้เข้าห้องตรวจ MRI
  • แจ้งแพทย์หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝังติดในร่างกาย. หากคุณผ่านการฝังอุปกรณ์ทางการแพทย์ในตัวคุณ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ, ฝังจุดฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Implanted drug port) หรือข้อเทียมโลหะ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

ขณะตรวจMRI เป็นอย่างไรบ้าง?

เมื่อคุณมาถึงศูนย์ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะขอให้คุณเปลี่ยนชุดสวมใส่สำหรับตรวจ ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะออก หากคุณรู้สึกไม่สบายร่างกายในกรณีอยู่ในที่แคบ กรุณาแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาให้ยาลดความกังวล
เจ้าหน้าที่จะเตรียมหลอดเลือดดำบริเวณแขนของคุณเพื่อพร้อมสำหรับฉีดสาร gadolinium ระหว่างการตรวจ MRI
ระหว่างนอนตรวจ คุณจะถูกจัดให้นอนคว่ำบนเตียงตรวจ MRI เต้านมของคุณจะอยู่ในแอ่งที่สัมผัสกับตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุและแม่เหล็ก และเตียงตรวจจะเลื่อนเข้าหาอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า
เครื่อง MRI จะสร้างสนามแม่เหล็กรอบๆตัวคุณและคลื่นวิทยุจะจับสัญญานใกล้หน้าอกคุณ แต่คุณจะไม่รู้สึกสัมผัสสนามแม่เหล็กกับคลื่นวิทยุเหล่านี้ คุณเพียงได้ยินเสียงรบกวนเป็นจังหวะกระตุกๆ เป็นระยะๆ ออกมาจากเครื่องตรวจ MRI เนื่องจากเสียงนี้น่ารำคาญ เจ้าหน้าที่จึงให้คุณสวมใส่ที่อุดหูเพื่อลดเสียงรบกวนเหล่านี้
ตลอดเวลาที่ตรวจ MRI เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณจากห้องด้านนอก แต่คุณสามารถพูดสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านไมโครโฟน เจ้าหน้าที่จะบอกให้คุณนอนนิ่งๆให้มากที่สุดแต่ให้หายใจตามปกติ
การนัดหมาย MRI อาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ผลการตรวจ

รังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญการแปลผล MRI ของเต้านมจะดูภาพที่เกิดจาก MRI และรายงานผลไปยังแพทย์ของคุณ แพทย์ของคุณจะแจ้งผลให้คุณทราบและตอบข้อสงสัยของคุณอีกต่อหนึ่ง

ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจ รายงานผลตรวจแมมโมแกรม?


เวลาไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เต้านม ได้ผลอ่านมา หมอจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ อ่านไม่เข้าใจ ทำให้เป็นกังวล บางครั้งก็กังวลไปก่อน แถมตอนฟังหมออธิบายก็เข้าใจ แต่พอเวลาผ่านไป ลืมแล้วว่าเป็นอย่างไร อะไรทำนองนี้ วันนี้จะไขข้อข้องใจ เผื่อเก็บไว้เป็นคู่มือแปลผลในครั้งต่อไป


ตัวอย่างเอกสารรายงานผล ดังภาพ



ขอให้ท่านมองบทสรุปในตอนท้ายเอกสาร ซึ่งมักจะมีหัวข้อ ว่า IMPRESSION (คำที่ขีดเส้นใต้สีม่วง) บางทีก็ใช้คำว่า CONCLUSION หรือว่าจะเป็น Assessment ก็มี


ต่อมาให้หาคำว่า BIRADS (ดังที่วงกลมไว้ในภาพ) หรือบางที่ก็ใช้คำว่า Category แล้วมีตัวเลขต่อท้าย คำว่า BIRADS ย่อมาจาก Breast Imaging Reporting And Database System ซึ่งถือว่าเป็นหลักการอ่านมาตรฐานที่รังสีแพทย์ผู้รายงานผลต้องรายงานในกติกาเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหมู่แพทย์ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการแนะนำการปฏิบัติต่อคนไข้แบบมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (คล้ายกับ รูปแบบการเขียนจดหมายราชการ ต้องมีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น)
ข้อความในประโยคที่มีคำว่า BIRADS และตามด้วยตัวเลข นี่แหละเป็นบทสรุปของการแปลผลแมมโมแกรมและ/หรือ อัลตร้าซาวด์เต้านมของท่าน ซึ่งข้อตกลงร่วมกันจะกำหนดให้แพทย์รายงานผลออกมาตั้งแต่ BIRADS-0 ไปจนกระทั่ง BIRADS-6
 ซึ่งอันนี้จะเป็นตัวสรุปรวมว่าผลเป็นอย่างไร รายละเอียดตามตาราง ต่อไปนี้




BIRADs 0 แปลว่า การตรวจยังไม่ครบสมบูรณ์ ต้องขอเอกซเรย์หรือตรวจบางอย่างเพิ่มเติม จึงจะแปลผลได้ เช่นถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมท่ามาตรฐานแล้ว คนไข้กลับไปแล้ว แพทย์มาเห็นภายหลังพบรอยสงสัยผิดปกติแต่รอยผิดปกตินั้นตกขอบภาพ หรือคลุมเครือ จำเป็นต้องถ่ายเอกซเรย์เพิ่มในท่าพิเศษ แต่คนไข้กลับไปก่อนแล้ว จึงต้องรายงานผลว่าการตรวจยังไม่สมบูรณ์ต้องเรียกตัวคนไข้กลับมาตรวจเพิ่มเติม

BIRADS 1: Negative คือ ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ

BIRADS 2: Benign คือ ตรวจพบความผิดปกติชนิดที่ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน มักจะต่อท้ายด้วย Routine screening is recommended ซึ่งหมายความว่า ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามปกติ

BIRADS 3: Probably Benign คือ ความผิดปกติที่พบ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้น้อยกว่า 2% มักจะตามมาด้วยข้อความให้ กลับมาตรวจทุก 6 เดือนสัก 2-3 ปี ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต่อไปก็ตรวจกัน ปีละครั้งเหมือนเดิม แต่ถ้าเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงเราค่อยเอาชิ้นเนื้อมาตรวจก็ไม่สายเกินไป แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความกังวลมาก และได้พูดคุยกับแพทย์เรียบร้อยแล้วก็ยังวิตกกังวลและอยากให้แพทย์เจาะส่งชิ้นเนื้อพิสูจน์ก็อาจทำได้เป็นกรณีพิเศษเป็นบางราย

BIRADS 4: Suspicious หมายถึงสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสตั้งแต่ 2-95% จะเห็นว่าช่วงโอกาสกว้างมาก จึงมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกสามกลุ่ม
  1. BIRADS 4a: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง ตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 10%
  2. BIRADS 4b: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 10% ไปจนถึง 50%
  3. BIRADS 4c: โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง มากกว่า 50% แต่น้อยกว่า 95%


BIRADS 5: Highly suggestive หมายถึง สงสัยมะเร็งเต้านมมากที่สุด โอกาสใช่ตั้งแต่ 95% ขึ้นไปถึง 100%
ถ้าเป็น BIRADS 4,5 จำเป็นต้องรีบเจาะเอาเก็บเนื้อเยื่อจากบริเวณรอยโรคมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง

BIRADS 6: Known biopsy proven หมายถึงผู้ป่วยเคยเจาะหรือผ่าชิ้นเนื้อมาแล้วว่าเป็นมะเร็ง แล้วแพทย์ค่อยส่งมาทำการตรวจเอกซเรย์เต้านม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรักษาต่อไป

ดังนั้น รายงานผลเอกซเรย์เต้านมโดยแพทย์ สำหรับประชาชนก็ให้มองหาส่วนสรุปท้ายรายงานให้พบ และทำความเข้าใจให้ได้ว่าแพทย์สื่อสารบอกว่า ท่านมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในระดับใดตามมาตรฐาน BIRADS และแพทย์แนะนำว่าให้ทำอย่างไรต่อไป 

กลับสู่ หน้า สารบัญบทความ

รอยโรคในภาพอัลตร้าซาวด์เต้านม แบบไหนน่ากังวล?



ถุงน้ำ หรือซิสต์ (cyst) เกิดจากกลุ่มของต่อมน้ำนมอุดตันและป่องออกกลายเป็นถุง กลม รูปไข่ ผนังบางภายในมีของเหลวค่อนข้างใส มีขนาดต่างๆกัน หากมีขนาดใหญ่ก็อาจจะทำให้รู้สึกคลำได้เป็นก้อนบนในเต้านม และอาจทำให้รู้สึกเจ็บเต้านมได้ในบางครั้ง


ภาพอัลตร้าซาวด์ของถุงน้ำ (ซิสต์) เห็นภาพก้อนรูปไข่สีดำสนิทเนื้อภายในเรียบ บางครั้งเห็นผนังบางๆสีเทา บริเวณที่ลึกกว่าถุงซิสต์จะเห็นเงาเนื้อเยื่อเต้านมขาวขึ้นกว่าบริเวณที่ไม่มีถุงน้ำขวางทางคลื่นเสียง จำนวนถุงน้ำมีตั้งแต่หนึ่งอันไปจนมากมายนับไม่ถ้วน หากพบลักษณะแบบนี้ ถือว่าไม่มีอันตรายที่ต้องวิตกกังวลว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะนัดตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเว้นระยะเวลาเท่ากับคนปกติ


ถุงน้ำที่ขุ่น (Complicated cyst)


คือถุงน้ำที่มีของเหลวซึ่งไม่ใส อาจจะเกิดจากของเหลวติดเชื้อ มีเลือดออกภายใน หรือมีตะกอนล่องลอยอยู่ภายใน ลักษณะภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นถุงรูปไข่ ขอบเรียบ อาจจะเห็นผนังบาง ส่วนของเหลวภายในไม่เป็นสีดำเรียบเนียนเท่าที่ควร บางครั้งอาจเป็นสีเทาจนแยกยากจากก้อนเนื้องอก แต่ถ้าใช้เข็มเจาะเข้าไปจะดูดได้น้ำ ในขณะที่ก้อนเนื้องอกจะใช้เข็มเจาะดูดไม่ได้ของเหลวออกมา
เนื่องจากเห็นจากภาพอัลตร้าซาวด์อาจจะแยกยากจากเนื้องอก แต่โดยลักษณะของเรียบจึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยมาก (น้อยกกว่าร้อยละ 2) การเจาะไปตรวจยังถือว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องเจ็บตัว แพทย์จึงจะไม่เจาะและนัดติดตามทำอัลตร้าซาวด์เต้านมในระยะถัดปีอีกหกเดือน



กลุ่มของถุงน้ำขนาดเล็ก (Cluster of microcysts)


เป็นถุงน้ำขนาดเล็กๆ (เล็กกว่า 3 มิลลิเมตร) อยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ในภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นเป็นวงกลมหรือรูปไข่สีดำเล็กๆหลายๆอันเกาะกลุ่มเป็นก้อนเดียว เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยมาก (น้อยกกว่าร้อยละ 2) ถ้าแพทย์พบลักษณะเช่นนี้ จะนัดให้ตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมอีกหกเดือนข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่า ความผิดปกตินี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง คือขนาดใหญ่ขึ้นมีเนื้อแทรกมากขึ้น เป็นต้น



ถุงน้ำซับซ้อน (complex cyst)


เป็นถุงน้ำที่พบทั้งส่วนประกอบที่เป็นน้ำและส่วนที่เป็นเนื้อเกาะติดผนังด้านในของถุงน้ำ บางครั้งก็เป็นแผ่นเยื่อแบ่งกั้นถุงน้ำที่หนาๆ หรือเป็นผนังถุงน้ำที่หนาตะปุ่มตะป่ำ ส่วนที่เห็นเป็นส่วนประกอบของเหลวจะสีดำเป็นเนื้อเดียวกันในภาพอัลตร้าซาวด์ ส่วนของเนื้อเยื่อในถุงน้ำจะแสดงเป็นสีเทา กรณีที่ตรวจพบเช่นนี้ โดยทั่วไปจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตั้งแต่ 0.3% - 31% แพทย์จึงแนะนำให้เจาะเก็บเอาส่วนที่เป็นเนื้อมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง

ก้อนเนื้องอกรูปไข่ขอบเรียบ (Oval-shaped mass)

ภาพอัลตร้าซาวด์ของก้อนเนื้อชนิดนี้มีลักษณะเป็นรูปไข่วางแนวนอน หมายถึงมีความกว้างมากกว่าความสูง (Wider than tall) ขอบของก้อนจะต้องเรียบ และชัด ถ้ามีหยักก็จะไม่เกินสี่หยัก สีของก้อนมีระดับเทาอ่อนจนถึงเทาเข้มก็ได้ ถ้าก้อนลักษณะแบบนี้จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่ำกว่า 2% ทางการแพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจติดตามอัลตร้าซาวด์เต้านมทุกหกเดือน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของก้อน หากเปลี่ยนแปลงในทางเลวลงชัดเจนก็จะเจาะเก็บเนื้อจากก้อนมาพิสูจน์ หากไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลาสามปี แพทย์ก็จะเลิกติดตามถี่และเปลี่ยนมาตรวจประจำปีเช่นเดิม


ก้อนรูปร่างกลม ขอบหยัก (round microlobulate mass)



ก้อนที่มีลักษณะรูปร่างทรงกลม ขอบชัด แต่ขอบมีหยักมาก (มากกว่า 4 หยักขึ้นไป) ลักษณะอย่างนี้มีโอกาสจะเป็นมะเร็งเกิน 2% ขึ้นไป ดังนั้นแพทย์จะนัดให้เจาะเก็บเนื้อเยื่อจากก้อนไปส่งตรวจพิสูจน์มะเร็ง


ก้อนขอบไม่ชัด (Indistinct mass)



ภาพอัลตร้าซาวด์ที่เห็นก้อนสีดำเข้มกว่าเนื้อเต้านมขอบของก้อนไม่คมชัดและส่วนที่เป็นเงาไม่ชัดหนาล้อมรอบขอบก้อนอย่างผิดปกติ นอกจากนี้บริเวณด้านลึกที่สุดของก้อนมีเงามืดทอดยาวลึกลงไปจนสุดสายตา ลักษณะแบบนี้แสดงถึงความน่าจะเป็นมะเร็งสูง จึงควรรีบมาเจาะเก็บเนื้อจากก้อนไปส่งพิสูจน์มะเร็ง

ก้อนขรุขระ (Irregular mass)



ภาพอัลตร้าซาวด์แสดงให้เห็นก้อนมีรูปร่างขรุขระ ขอบขรุขระ ด้านนอกก้อนมีสีขาวหนาล้อมรอบขอบก้อน ลักษณะเช่นนี้มีความเหมือนโรคมะเร็งได้สูงมาก จึงต้องรีบเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากก้อนส่งพิสูจน์มะเร็ง

อัลตร้าซาวด์มีประโยชน์ในการเสริมความแม่นยำและเพิ่มข้อมูลรอยโรคให้กับการตรวจแมมโมแกรม เมื่อได้ข้อมูลรอยโรคครบถ้วนแล้วรังสีแพทย์จึงสามารถจัดกลุ่มความผิดปกติในเต้านมของคนไข้รายนั้นๆ (Category) ได้โดยใช้หลักมาตรฐาน BIRADS (Breast Imaging Reporting And Data System) ใครสนใจอ่านโปรด คลิก LINK เรื่อง BIRADS 


ก้อนในเต้านมบนภาพแมมโมแกรม

การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือ แมมโมกราฟฟี่ (Mammography) จุดประสงค์หลักเพื่อค้นหารอยโรคที่สงสัยมะเร็งเต้านม ที่จะได้รับการพิสูจน์ด้วยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อพิสูจน์ต่อไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้ทราบถึงลักษณะก้อนชนิดต่างๆที่ไม่สงสัยมะเร็ง,สงสัยมะเร็งและกลุ่มที่ยังก้ำกึ่งต้องตรวจให้แน่ชัดขึ้นไปอีก

เช่นที่เคยเขียนในบทความก่อนหน้านี้ว่า การเห็นก้อนในเต้านมชัดหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น
ความแตกต่างของสี ก้อนนี้ให้สีขาวเช่นเดียวกันกับเนื้อเต้านมซึ่งจะถูกบดบังได้ หรือเป็นสีเทาซึ่งแตกต่างจากเนื้อเยื่อเต้านมทำให้มองเห็นก้อนได้ชัด
ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม ถ้ามีมากอาจจะยิ่งบดบังก้อนที่มีสีขาวได้มากขึ้นได้ ดังรูปด้านล่าง
ภาพแสดงความหนาแน่นเนื้อเยื่อเต้านมที่มากขึ้นมีโอกาสบดบังก้อนในภาพแมมโมแกรมมากขึ้น

ตำแหน่งของก้อน อาจจะอยู่นอกบริเวณที่เอกซเรย์ อาจจะทำให้แพทย์ไม่เห็นก้อนได้

ลักษณะของก้อนเนื้อที่ไม่สงสัยมะเร็งบนภาพแมมโมแกรม


กรณีที่เห็นก้อนชัดในแมมโมแกรม แบบไหนที่ไม่ต้องอัลตร้าซาวด์ซ้ำแล้ว มี
ดังต่อไปนี้
ก้อนเป็นไขมันล้วน (Lipoma) ลักษณะก้อนไขมันในภาพแมมโมแกรมจะเป็นสีเทาเหมือนสีของเนื้อเยื่อไขมัน แต่จะสังเกตเห็นขอบสีขาวบางๆ หรือร่องรอยกดเบียดเนื้อเยื่อเต้านมปกติ ดังรูป 
ภาพแมมโมแกรมแสดงก้อนไขมันในเต้านมข้างซ้ายมีสีเทาเช่นเดียวกันชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
ก้อนที่ขอบเขตชัดเจนเป็นก้อนเนื้อสีขาวแต่ก็มีเนื้อเยื่อไขมันผสมอยู่ด้วย (Hamartoma) บางครั้งก็จะมีส่วนประกอบหินปูนสีขาวขนาดใหญ่อยู่ข้างในด้วย จึงเป็นก้อนมีเนื้อสีผสมระหว่างสีขาว (เนื้อเยื่อ) และสีเทา (ไขมัน) และ/หรือหินปูน (สีขาวทึบ)ดังภาพด้านล่าง
Hamartoma ก้อนขอบเขตเรียบที่มีส่วนผสมของเนื้อเยื่อสีขาวและสีเทา(ไขมัน)




ก้อนเนื้อขอบเขตเรียบชัดเจนและมีหินปูนรูปร่างเหมือนข้าวโพดคั่วข้างใน (Involuted fibroadenoma) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย เกิดจากเนื้อเยื่อบุโครงสร้างเต้านมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่มีการลุกลาม เมื่อนานวันใจกลางของก้อนเสื่อมลงและมีหินปูนแบบข้าวโพดคั่ว (Popcorn-liked calcification) มาแทนที่ ดังรูป 
Involuted fibroadenomaก้อนเนื้องอกขอบชัดข้างในมีหินปูนขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายข้าวโพดคั่ว
ในบางรายเราจะเห็นแต่รอยหินปูนแบบข้าวโพดคั่วโดยไม่สามารถเห็นตัวก้อนเลยก็ได้


ลักษณะก้อนที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

มีลักษณะดังต่อไปนี้

ขอบก้อนมีหยักมากกว่าสี่หยัก (Microlobulated margins) 

รูปร่างและขอบขรุขระ (irregular shape)

ขอบก้อนเป็นหนามแหลม (Spiculated margins)


ส่วนก้อนเนื้อที่ไม่เห็นลักษณะเฉพาะดังกล่าวข้างต้น แก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.       เอกซเรย์หลายๆแนวเพิ่มเติม
2.       ตรวจเพิ่มเติมด้วยอัลตร้าซาวด์
ก้อนเนื้อที่มีลักษณะกลางหรือเห็นในภาพแมมโมแกรมยังไม่ครบ ไม่ชัด ต้องอาศัยการตรวจอัลตร้าซาวด์เพิ่มเติม เพื่อที่จะแยกแยะความสงสัยมะเร็งต่อไป ดังจะกล่าวในหัวข้ออัลตร้าซาวด์ก้อนในเต้านมครับ


หินปูนในเต้านม (Breast calcifications)

ในภาพเอกซเรย์เต้านมถ้าปกติจะไม่พบรอยหินปูนเลย แต่การพบหินปูน หรือบางคนเรียก แคลเซียม ในภาพเอกซเรย์เต้านม (Mammograms) ก็มีหลายลักษณะ ทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม เรามารู้จักชนิดของหินปูนแต่ละชนิดพอสังเขปกันเถอะ

หินปูนที่สงสัยมะเร็ง

หินปูนที่สงสัยมะเร็งแบบที่หนึ่ง (Fine Linear and Fine linear branching calcifications) 
หินปูนที่รูปร่างเป็นขีดละเอียด หรือเป็นขีดละเอียดเรียงตัวคล้ายกิ่งก้าน

Fine linear and fine linear branching calcifications



ภาพเอกซเรย์เต้านมนี้แสดงให้เห็นกลุ่มของหินปูน (สีขาว)ซึ่งส่วนใหญ่จะรูปร่างเป็นขีดหรือแท่ง แต่ละแท่งจะเรียงตัวกันคล้ายเส้นตรง หรือแตกแขนงเป็นกิ่งเหมือนกิ่งไม้ ถ้าของใครมีลักษณะแบบนี้ละก็สงสัยมะเร็งเต้านม ซึ่งแพทย์จะต้องนัดมาเจาะเอาเนื้อบริเวณนี้มาพิสูจน์ให้แน่ชัดครับ


หินปูนที่สงสัยมะเร็งแบบที่สอง Fine pleomorphic calcifications  กลุ่มหินปูนละเอียดที่มีรูปร่างหลายๆแบบ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นขีดบ้าง เป็นจุดบ้าง และจุดบางอันก็ไม่ได้กลมเหมือนกันเหมด ดังภาพด้านล่าง



Fine pleomorphic calcifications

หินปูนลักษณะนี้สงสัยมะเร็งมากครับ จึงต้องให้แพทย์เจาะเก็บเนื้อเยื่อบริเวณนี้มาตรวจพิสูจน์มะเร็งต่อไป


หินปูนสงสัยมะเร็งแบบที่สาม Amorphous calcifications

กลุ่มหินปูนที่เราเห็นได้ลางๆจึงเห็นรูปร่างได้ไม่ชัดเจนดังภาพด้านล่าง


Amorphous microcalcifications


สังเกตในวงกลมจะพบ หินปูนมีขนาดเล็กมาก (จำนวนมากกว่า 5 จุดขึ้นไป) และสีจางมากจนเราไม่สามารถเป็นรูปร่างของมันได้อย่างชัดเจน จึงไม่สามารถอธิบายรูปร่างลักษณะของมันได้ ลักษณะอย่างนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งหรือเป็นภาวะที่ไม่เป็นมะเร็งก็ได้ อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ ถ้าตัดประเด็นโรคร้ายแรงออกไม่ได้ก็ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดเสียก่อน โดยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อบริเวณนั้นไปส่งตรวจครับ




หินปูนสงสัยมะเร็งชนิดที่สี่ 
Coarse heterogeneous calcifications
หินปูนชนิดหยาบ ขอบชัด รูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ดังภาพ
Coarse heterogeneous calcifications



หินปูนนี้มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 มิลลิเมตร ขอบเขตเห็นได้ชัด แต่มีรูปร่างหลายแบบ และขนาดไม่เท่ากันอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือหย่อม ถ้าพบลักษณะแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ใช่ก็ได้ จัดได้ว่ากลางๆระหว่างใช่หรือไม่ใช่มะเร็ง แต่ทางการแพทย์ถ้ามีโอกาสเป็นโรคร้ายแรง ต้องพิสูจน์ให้ทราบแน่ชัด โดยการเจาะเก็บเนื้อเยื่อที่มีหินปูนเหล่านี้มาพิสูจน์มะเร็ง


หินปูนที่สงสัยมะเร็งน้อย
Round and punctate microcalcifications 
หินปูนขนาดเล็กขอบชัด มีขนาดใกล้เคียงกัน รูปร่างกลมเหมือนรูเข็ม (จินตนาการเหมือนรูเข็มที่เจาะด้วยเข็มขนาดเดียวกันบนกระดาษ) ดังรูปด้านล่าง

Round punctate microcalcifications

ถ้าแพทย์พบหินปูนลักษณะเช่นนี้ จะนัดติดตามการตรวจเอกซเรย์เต้านมใกล้ชิดคือนัดถัดไปอีกหกเดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะว่าจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่นที่น่าสงสัยมะเร็งหรือไม่ หากเปลี่ยนแปลงไปทางสงสัยมะเร็ง ครั้งหน้าแพทย์ต้องนัดเจาะเก็บเนื้อเยื่อมาพิสูจน์มะเร็ง หากไม่เปลี่ยนแปลงอาจนัดตรวจแมมโมแกรม (Mammograms) ทุกหกเดือนเป็นเวลาสามปี จนแน่ใจว่าไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอนแล้วหรือหินปูนลดลง จะนัดตรวจเอกซเรย์เต้านมระยะเวลาห่างขึ้น



หินปูนที่ไม่สงสัยมะเร็ง (Benign calcifications)

หินปูนที่ไม่สงสัยมะเร็งชนิดที่หนึ่ง 
Milk of calcium 
เป็นหินปูนที่ตกตะกอนอยู่ในหน่วยต่อมน้ำนม (ลองนึกถึงภาพถ้วยวางหงายอยู่ในถังน้ำใสๆ หากคุณมองถ้วยจากด้านบนคุณจะเห็นถ้วยเป็นรูปวงกลม หากคุณมองถ้วยจากด้านข้างคุณจะเห็นถ้วยรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยวหงาย เช่นกัน หินปูนที่ตกตะกอนอยู่ในหน่วยของต่อมน้ำนมให้ลักษณะที่ท่าที่เอกซเรย์คล้ายตัวอย่างที่ยกมา ดังนี้

เอกซเรย์เต้านมในแนว บน-ล่าง (Craniocaudad position)


เอกซเรย์เต้านมในแนว ใน-นอก เอียง (Mediolateral oblique position)
ภาพของหินปูน milk of calcium ในต่อมน้ำนมในมุมมองบน-ล่าง จะเห็นหินปูนรูปร่างวงกลม ขณะที่ภาพหินปูนในแนวมุมมองด้านข้างจะเห็นหินปูนรูปถ้วยหงาย
เมื่อเราเอกซเรย์เต้านมในแนวบน-ล่าง ดังภาพ เราจะเห็นแคลเซียมเป็นรูปกลม แต่เมื่อถ่ายเอกซเรย์ในท่าเอียงด้านข้าง เราจะเป็นหินปูนที่ตกตะกอนในแอ่ง รูปร่างเหมือนถ้วย แต่ในภาพเอกซเรย์ จะเล็กมาก ต้องขยายภาพอีก ดังภาพด้านล่าง
ภาพแมมโมแกรมแบบขยาย แสดงหินปูน milk of calcium แนวบนล่าง (ภาพซ้าย) และแนวด้านข้างใน-นอกเอียง (ภาพขวา)

ถ้าพบหินปูน ชนิด milk of calcium รังสีแพทย์จะรายงานผลออกมาว่าไม่เป็นอันตราย การนัดหมายตรวจเอกซเรย์เต้านมจึงเป็นหนึ่งปีเหมือนคนที่ผลปกติเลย


หินปูนชนิดไม่ใช่มะเร็งชนิดที่สอง “หินปูนที่ผิวหนัง (Dermal calcification) หินปูนที่ผิวหนังเราจะเห็นอยู่ขอบๆของภาพ อยู่ในที่ตื้นๆ ดังภาพด้านล่าง

หินปูนที่ผิวหนัง (Dermal calcifications)


หินปูนชนิดนี้เกิดในผิวหนัง ไม่ได้เกิดในชั้นเต้านม ถ้าแพทย์พบแพทย์จะรายงานผลว่าไม่เป็นอันตรายและตรวจปีต่อไปตามปกติเช่นคนที่ไม่พบอะไรเลย

หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่สาม 
“หินปูนของหลอดเลือดในเต้านม (Vascular calcification)” 
ดังภาพด้านล่าง
หินปูนของหลอดเลือดในเต้านม (Vascular calcifications)

หินปูนที่จับผนังหลอดเลือดในเต้านมจะมีลักษณะสีขาวเป็นรูปท่อยาวในภาพเอกซเรย์เต้านม หรือมีลักษณะเป็นเส้นขาวคู่ขนานกัน ไม่เป็นอันตราย แพทย์จะนัดตรวจเอกซเรย์เต้านมปีต่อไป



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่สี่ “หินปูนรูปร่างเหมือนข้าวโพดคั่ว (Pop corn liked calcification) 
ภาพหินปูนลักษณะคล้ายข้าวโพดคั่วในภาพแมมโมแกรมเต้านมข้างซ้าย



หินปูนชนิดนี้จะเกิดในเนื้องอกชนิดไม่ร้ายชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเนื้อเต้านม ชื่อ ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เนื้องอกชนิดนี้มีได้หลายขนาด เมื่อเวลาผ่านไปเนื้องอกจะเสื่อมฝ่อลงและมีหินปูนลักษณะเหมือนข้าวโพดคั่วเกิดขึ้นได้ ถ้าเห็นลักษณะหินปูนเช่นนี้ก็มั่นใจได้ว่า ไม่เป็นอันตรายแน่นอน แพทย์จะนัดตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะเวลาปกติเลย



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่ห้า “หินปูนรูปแท่ง
ขนาดใหญ่ 
(Large rod-liked calcifications)

หินปูนรูปแท่งขนาดใหญ่ (Large rod-liked calcifications)

หินปูนนี้มีรูปร่างเป็นแท่งขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร เพราะเป็นหินปูนที่เกิดในท่อน้ำนมที่ขยายตัวขึ้น จะเรียงตัวกันใกล้หรือเข้าหาหัวนม มักพบทั้งสองข้างและในคนสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไป บางครั้งจะเข้าใจสับสนกับหินปูนรูปร่างเป็นขีดขนาดเล็กซึ่งสงสัยมะเร็ง แต่หินปูนรูปแท่งขนาดใหญ่จะไม่ใช่หินปูนมะเร็งเลย ผู้หญิงที่มีหินปูนชนิดนี้จึงสามารถตรวจแมมโมแกรมปีละครั้งเหมือนคนปกติ


หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่หก “หินปูนรูปเปลือกไข่ (Eggshell calcification)
หินปูนรูปเปลือกไข่ (Egg-shelled calcification)
มักจะเกิดจากเม็ดไขมันที่ไม่มีชีวิตแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีรูปทรงรูปไข่ และเกิดหินปูนจับที่ขอบนอกของเม็ดไขมันนี้จึงมองเห็นเป็นเส้นโค้งบางๆเป็นรูปวงรี เต็มวงบ้างหรือไม่เต็มวงบ้างก็ได้ ส่วนใหญ่จะขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร ไปจนกระทั่งขนาดเป็นเซนติเมตรก็พบได้ ไม่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ถ้าตรวจพบแพทย์จะไม่ต้องนัดพิเศษใดๆ



หินปูนชนิดไม่อันตรายชนิดที่เจ็ด “หินปูนขรุขระขนาดใหญ่จากเนื้อเยื่อสลาย (Dystrophic calcification)
ภาพแมมโมแกรม แสดงลักษณะของหินปูนชนิดขรุขระจากเนื้อเยื่อสลาย (Dystrophic calcifications)

หินปูนชนิดนี้มีขนาดใหญ่ รูปร่างเหมือนก้อนหินขรุขระมาก บางคนจินตนาการว่าเหมือน หินลาวาขรุขระ ส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อตายและเปลี่ยนแปลงไปจนมีหินปูนมาจับ จึงมักพบหลังจากเต้านมได้รับการฉายรังสีรักษาหรือบาดเจ็บของเต้านมมาแล้วประมาณ 3 ถึง 5 ปี อย่าเข้าใจผิดว่าเหมือนหินปูนมะเร็ง หรือเห็นว่าขรุขระแล้วจะดูแล้วอันตราย ทางการแพทย์หากพบลักษณะเช่นนี้ร่วมกับประวัติเคยได้รับการฉายรังสีรักษามาก่อนก็แน่ใจได้ว่า เป็นหินปูนชนิดไม่ร้ายแรง สามารถตรวจแมมโมแกรมประจำปีเหมือนคนที่ปกติไม่พบอะไรได้เลยครับ


กลับสู่ สารบัญบทความ