ไตวาย: การเตรียมตัวก่อนการใช้เครื่องไตเทียม

ภาวะไตวายเรื้อรัง คือ อะไร?
คือภาวะไตเสื่อมการทำงานจนไม่สามารถกรองของเสียออกจากเลือดในร่างกายได้ ทำให้ของเสียในเลือดเพิ่มจำนวนมากจนร่างกายเสียสมดุลการทำงานไป

ลำดับขั้นการรักษา?
เมื่อไตเสื่อมการทำงานมากขึ้นเรือยๆ จากการรักษาประคับประคอง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการล้างไต ซึ่งนิยมล้างไตด้วยการฟอกเลือดโดยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) ก่อนแต่หากใช้วิธีนี้ไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาการฟอกไตด้วยการล้างไตผ่านช่องท้อง (peritoneal dialysis) ระหว่างที่ล้างไตอยู่ หากมีไตบริจาคที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย และภาวะผู้ป่วยเหมาะสมที่จะปลูกถ่ายไตได้ ก็ควรทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อยืดอายุผู้ป่วยและให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)
เป็นการรักษาโดยการนำเลือดออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เครื่องกรองเลือดแยกเอาของเสีย เกลือแร่ และน้ำที่เกินออกจากเลือด เลือดที่กรองจากเครื่องไตเทียมกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ดังนั้นจะต้องมีจุดนำเลือดออกและทางเข้า การฟอกเลือดต้องทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆละ 2-5 ชั่วโมงซึ่งจำกัดวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย
ภาพแสดงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

เราสร้างทางเข้า-ออกเลือดจากหลอดเลือดดำ (venous access) ได้ทางไหนบ้าง?
  1. การต่อหลอดเลือดแดงเข้ากับหลอดเลือดดำ (arteriovenous fistula) โดยมากแพทย์จะ ผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงเข้ากับหลอดเลือดดำบริเวณท่อนแขนเหนือข้อมือ ดังรูปด้านล่าง โดยทั่วไปต้องรอให้รอยต่อนี้เชื่อมสนิทเป็นระยะเวลา 2 ถึง 4 เดือน และหลอดเลือดดำหลังรอยต่อโป่งขยายขึ้นเพื่อให้ปริมาณเลือดไหลเข้าเครื่องไตเที่ยมมากและเร็วพอที่จะฟอกของเสียหมดใน 2-4 ชั่วโมง
    การใช้งานต่อกับเครื่องไตเทียมต้องมีสายสองเส้น (แทงเข็มสองจุดแล้วต่อกับสายส่งเลือดเข้าเครื่องและสายจากเครื่องไตเที่ยมส่งเลือดกลับเข้าหลอดเลือดดำ)
  2. การเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงเข้ากับหลอดเลือดดำด้วยท่อยางสังเคราะห์ (arteriovenous graft) รอเวลาให้แผลหาย 2 สัปดาห์ก่อนจะใช้การล้างไตได้ ใช้กรณีที่วิธีที่หนึ่งทำไม่ได้เนื่องหลอดเลือดขนาดเล็กเกินไปที่จะต่อโดยตรง
    แผนภาพการใส่หลอดเลือดเทียมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ เวลาล้างไตจะแทงเข็มสองอันสำหรับเป็นขาออก และขาเข้าของเลือด
  3. ฝังหลอดสวนใว้ในหลอดเลือดดำใหญ่ (Central venous catheter) โดยทั่วไปแพทย์จะฝังหลอดสวนที่หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอ จะใช้กรณี นี้ก็ต่อเมื่อมีข้อจำกัดในการใช้วิธีที่ 1 และ 2 
    แผนภาพแสดงหลอดสวนสำหรับล้างไตที่แพทย์สอดไว้ปลายหลอดสวนอยู่ในหลอดเลือดดำใหญ่ใกล้ขั้วหัวใจ หลอดสวนนี้จะมีสองช่องสำหรับเลือดขาเข้าและขาออกจากร่างกายเพื่อต่อเข้าสูเครื่องไตเทียม ส่วนที่โค้งหักกลับจะถูกฝังอยูใต้ชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันการติดเชื้อง่ายๆ
เราจะดูแลบริเวณที่ติดต่อกับเครื่องล้างไตอย่างไร?
ควรจะทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่และน้ำอุ่นทุกวันและก่อนเวลาล้างไต
สิ่งที่ไม่ควรทำได้แก่:
  • เกาหรือดึงบริเวณนี้
  • สวมเสื้อรัดหรือเครืองประดับรัดบริเวณนี้
  • นอนทับแขนบริเวณนี้
  • เจาะเลือดหรือวัดความดันโลหิตแขนข้างนี้
เราควรตรวจดูบริเวณรอยต่อหรือหลอดสวนทุกวัน ให้แน่ใจว่ามันยังปกติอยู่ โดยปกติเลือดที่ไหลผ่านบริเวณเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำจะไหลผ่านเร็วจนรู้สีกสัมผัสแรงสั่นได้ เรียกว่า thrill(ทริล)
ควรปรึกษาแพทย์ ในกรณีนี้
  • ไม่รู้สึกถึงแรงสั่นเหนือบริเวณรอยต่อหลอดเลือด เพราะเป็นอาการเตือนของการตีบตันของหลอดเลือด
  • ผิวหนังเหนือบริเวณรอยต่อหลอดเลือดบวมแดงร้อน ซึ่งสงสัยภาวะการติดเชื้อ
  • เลือดออกมากจากรูเข็มหลังเสร็จการล้างไต
กรณีที่หลอดเลือดแดงหรือดำบริเวณใกล้รอยต่อตีบแพทย์จะรักษาด้วยการใส่หลอดสวนที่มีลูกโป่งขยายรอยตีบแคบให้กว้างขึ้น ดังรูป ด้านล่าง
รูปวาดแสดงการสอดหลอดสวนเข้าไปตรงรอยตีบ (สีเหลือง) เมื่อถึงจุดตีบแคบก็ทำให้ลูกโป่ง (สีฟ้า)ขยายตัวดันรอยตีบแคบให้กว้างขึ้น

ด้านล่างเป็นภาพเอกซเรย์หลอดเลือดแสดงก่อนและหลังรักษารอยตีบ
รอยตีบของหลอดเลือดดำ (หัวลูกศร)ก่อนการรักษาด้วยลูกโป่งขยาย


ภาพเอกซเรย์ของหลอดเลือดดำหลังจากขยายรอยตีบ ทำให้เลือดไหลเวียนพุ่งแรงดีขึ้นและกลับมาใช้กับเครื่องไดเทียมได้อีก

ในบางกรณีที่ลิ่มเลือด (เลือดแข็งตัวเกาะแน่นอยู่ภายในหลอดเลือด)มีผลให้แรงดันเลือดน้อยลง แพทย์จำเป็นต้องใส่หลอดสวนและให้ยาละลายลิ่มเลือดผ่านหลอดสวนจนเริ่มเห็นรอยเปิดแล้วจึงจะขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งอีกทีหนึ่ง

สำหรับหลอดสวนในหลอดเลือดดำใหญ่ (Cenral venous catheter) ที่อุดตันจากลิ่มเลือดจะรักษาด้วยการเปลี่ยนหลอดสวนเส้นใหม่โดยพยายามใส่ในเส้นทางเดิมก่อน

เหล่านี้คือความรู้เบื้องต้น ของการฟอกเลือดกรณีไตวายเรื้อรัง
หากมีคำถามใดๆ คุณสามารถสอบถามในช่องคอมเมนต์ด้านล่างได้

เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสอ่านบทความใหม่ๆของ หมอ ขอแนะนำให้คุณกด like หรือแนะนำ ใน facebook page ของหมอนะครับ

กลับ หน้า สารบัญบทความ

Link พัฒนาตนเอง

1. แนวทางพัฒนาการคิด
2. กด like ให้drrattawach fanpage


มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอันดับสองแล้ว จะรับมืออย่างไร?

มะเร็งก่อตัวในลำไส้ใหญ่ฝั้งซ้าย

มะเร็งลำไส้ใหญ่สำคัญไหม?
 พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆในคนทั่วโลก เป็นมะเร็งอันดับสองในชายไทยและอันดับสามในหญิงไทย หากรอจนพบอาการก้อนมะเร็งมักจะกระจายไปทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระเแสเลือดแล้ว (แต่ตาเปล่าไม่เห็น) และมันค่อนข้างดื้อต่อยาเคมีบำบัด

อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอย่างไร?
ขอให้ดูแผนภูมิอันนี้เป็นการอ้างอิงจาก งานวิจัย

จากแผนภูมินี้สรุปได้ย่อๆว่าดังนี้
มะเร็งระยะที่หนึ่ง อัตรารอดชีวิต เมื่อผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 74.0
มะเร็งระยะที่สอง อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 37.3ถึง 66.5
มะเร็งระยะที่สาม อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 28.0ถึง 73.1
มะเร็งระยะที่สี่ อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 5.7

แต่โชคร้าย ผู้ที่มีอาการแสดงและมาพบแพทย์มักจะอยู่ในระยะที่สามและสี่

ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไหม?
แม้ว่าคุณจะควบคุมอาหาร ไม่กินไขมัน รับประทานกากใยมาก ระวังไม่ให้ท้องผูก รวมทั้งสารพัดอาหารต้านมะเร็ง ฝึกจิตใจไม่ให้เครียด เพื่อให้โอกาสเกิดมะเร็งลดลง แต่คุณอย่าเข้าใจผิดว่าจะไม่เป็นแน่นอน ไม่มีบทความวิจัยใดๆที่บอกว่าการป้องกันมะเร็งด้วยวิธีเหล่านี้จะป้องกันมะเร็งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

เฝ้าระวังอาการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไหม?
การเฝ้าระวังอาการแสดงของมะเร็งนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีเลย เพราะไม่ได้ทำให้อัตรารอดชีวิตของเราดีขึ้น ถ้ารอให้มีอาการก็นับวันบอกอัตรารอดตัวเองเท่านั้นเองว่า ภายใน 5 ปีจะเสียชีวิตไปกี่คน

ทำอย่างไรจึงจะค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เร็วที่สุด?
เนื่องจากกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่พัฒนาจากเซลล์ผิดปกติมาเป็นติ่งเนื้อก่อนและจะค่อยๆโตขึ้นเป็นก้อนโตจนมีอาการใช้เวลาประมาณ 5 ปี
จนถึงปัจจุบันนี้การค้นหามะเร็งระยะแรกที่ทำได้เร็วที่สุดแล้วก็คือ ระยะที่เป็นติ่งเนื้อ (Polyp) ไม่ใช่การตรวจสารเอนไซม์ CEA (carcinoembryonic antigen) ในเลือดซึ่งจะตรวจพบได้ช้ากว่า
ภาพการพัฒนาจากเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ปกติ (ซ้ายสุด) กลายเป็นการหนาตัว (ที่สองจากซ้าย) เริ่มเป็นติ่งเนื้อ (ภาพกลาง) ติ่งเนื้อใหญ่ขึ้น (ภาพที่สี่) และติ่งเนื้อเริ่มเปลี่ยนเป็นมะเร็ง(ขวาสุด)

วิธีตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นที่เป็นที่ยอมรับทางแพทย์มีอะไรบ้าง?

การคัดกรองที่ได้ผลดีที่สุดคือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพราะว่าสามารถเห็นลำไส้ใหญ่ตลอดทั้งแนวและสามารถตัดติ่งเนื้อไปพิสุจน์ว่าเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้จึงต้องยอมรับการตรวจทางเลือกอื่นๆเข้ามาด้วย แล้วจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ลองพิจารณาแต่ละวิธีดังนี้

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy)
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสอดท่อซึ่งปลายท่อติดกล้องวิดีโอทำให้เห็นเยื่อบุภายในตลอดลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถสอดเครื่องมือสำหรับตัดเนื้อเยื่อจากรอยโรคที่สงสัยไปตรวจพิสุจน์ได้อีกด้วย

  • จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
  • จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ ผู้รับการตรวจต้องหยุดพักงานหนึ่งวันและต้องมีบุคคลมาด้วยเพื่อนำผู้ป่วย กลับเพราะหลังตรวจเสร็จยานอนหลับยังไม่หมดฤทธิ์ทันที
  • มีความเสี่ยงจากการส่องกล้องได้ เช่น สำไส้ทะลุ เลือดออกจากลำไส้ ส่วนใหญ่เลือดออกจากการที่แพทย์ตัดเนื้องอกไปตรวจ
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (flexible sigmoidoscopy)
  • จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
  • ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
  • ส่องดูลำไส้ได้เฉพาะส่วนปลายในระยะทาง 40 เซนติเมตร
  • หากส่องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) ปลายท่อส่องเพียงความลึก 40 เซนติเมตร


การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยสวนสารแบเรียม (Double contrast barium enema)
  • จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
  • ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
  • ถ้าหากพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมลำไส้ใหม่อีกรอบหนึ่ง
  • มีความไวในการพบติ่งเนื้อตั้งแต่ขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • โอกาสลำไส้ทะลุต่ำมากๆ
การเอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนน้ำผสมผงแบเรียมซัลเฟต (Barium Enema) ปลายท่อคาอยู่ที่ไส้ตรงเท่านั้นและปล่อยให้ของเหลวสวนย้อนไปถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและกล้องเอกซเรย์จากภายนอกแสดงภาพบนจอมอนิเตอร์

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (Computed Tomography  Colonography)
  • จำเป็นต้องใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง
  • ต้องมีซอฟแวร์สำหรับสร้างภาพลำไส้ใหญ่
  • จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
  • ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
  • หากพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมลำไส้ใหม่อีกรอบหนึ่ง
  • มีความไวในการพบติ่งเนื้อขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • โอกาสลำไส้ทะลุต่ำมากๆ
การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonography) ผู้ป่วยนอนบนเตียงของเครื่องตรวจ หลังจากสวนลมเข้าทางทวารผ่านท่อยางเล็กๆแล้ว เครื่องสแกนส่วนช่องท้องในท่านอนหงายหนึ่งครั้งและท่านอนคว่ำหนึ่งครั้งผู้ป่วยก็ลงจากเครื่องได้ รังสีแพทย์จะตรวจเช็คภาพหาความผิดปกติผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์เอง

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงภาพภายในลำไส้ได้หลายมุมมอง เช่นมุมมองแบบเห็นลำไส้คลี่แบน (ภาพซ้าย) มุมมองภาพตัดขวาง (ภาพกลางขาวดำ) หรือมุมมองแบบส่องกล้อง(flythrough)

การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Guaiac-based Fecal Occult Blood Test (gFOBT) ที่ระบุความไวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เทคนิคการตรวจขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตสารทดสอบ โดยส่วนใหญ่จะต้องเก็บอุจจาระสองถึงสามรอบที่บ้านเพื่อนำมาส่งตรวจ
  • ผู้ป่วยต้องทราบว่าถ้าผลตรวจเป็นบวกหมายถึงผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงที่เกิดเนื้องอกที่ค่อนข้างจะกลายเป็นมะเร็งแล้วหรือเป็นมะเร็งโดยสมบูรณ์แล้ว
  • หากผลตรวจเป็นลบ จำเป็นต้องตรวจซ้ำทุกปี
  • ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจว่าตรวจครั้งเดียวนั้นไร้ประสิทธิผล

การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) ที่ระบุความไวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มีความไวและเฉพาะเจาะจงกว่าวิธี gFOBT 
  • ราคาแพงกว่า วิธี gFOBT
  • จำเป็นต้องตรวจทุกปี
การตรวจมีหลายวิธีจะเลือกอย่างไร?
  • ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตาม ความสามารถในการจ่าย (เพราะไม่ฟรี), บริการที่มีอยู่ใกล้ชุมชนของคุณ, ความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของคุณ (บางคนกลัวการสวนทวารโดยผู้อื่น) 

  • ปรึกษาแพทย์ใกล้ตัวคุณเพื่อหาวิธีที่เหมาะกับคุณ

ควรเริ่มตรวจเมื่อใด?
  • สำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงมาก เริ่มที่อายุ 50 ปี
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ ได้แก่บุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคประจำตัวเป็นลำไส้อักเสบชนิด chron disease หรือ ulcerative coliitis ควรตรวจเร็วที่อายุ 40 ปี
ความถี่ในการตรวจเป็นอย่างใด? 
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก 10 ปี
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
  • การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยสวนสารแบเรียม (Double contrast barium enema) ทุก 5 ปี
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (Computed Tomography  Colonography) ทุก 5 ปี
  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี gFOBT หรือ FIT ทุก 1  ปี
เลือกตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมแต่ละคน
สรุป
มะเร็งลำไส้ใหญ่กำลังเป็นมะเร็งอันดับต้นที่คร่าชีวิตคนไทยไปด้วยเหตุที่เรารอให้มีอาการแสดงก่อนจึงมาพบแพทย์และไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นซากไปได้
หากต้องการให้อัตราการตายจากมะเร็งนี้ลดลง นอกเหนือจากแนวทางป้องกันการเกิดมะเร็งทั่วไปแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งให้พบในระยะเริ่มต้นจะรักษาได้ผลดี แต่อุปสรรคของการคัดกรองคือ เป็นการตรวจที่ค่อนข้างยุ่งยากและขาดแคลนผู้เชียวชาญเพียงพอที่จะตรวจได้ทุกคนและที่สำคัญ ผู้ที่รับการตรวจยังต้องมีความตระหนักอย่างสูง และมีความพร้อมด้านการเงิน


กลับ หน้า สารบัญบทความ


Link พัฒนาตนเอง

1. แนวทางพัฒนาการคิด
2. กด like ให้drrattawach fanpage