รอยโรคในภาพอัลตร้าซาวด์เต้านม แบบไหนน่ากังวล?



ถุงน้ำ หรือซิสต์ (cyst) เกิดจากกลุ่มของต่อมน้ำนมอุดตันและป่องออกกลายเป็นถุง กลม รูปไข่ ผนังบางภายในมีของเหลวค่อนข้างใส มีขนาดต่างๆกัน หากมีขนาดใหญ่ก็อาจจะทำให้รู้สึกคลำได้เป็นก้อนบนในเต้านม และอาจทำให้รู้สึกเจ็บเต้านมได้ในบางครั้ง


ภาพอัลตร้าซาวด์ของถุงน้ำ (ซิสต์) เห็นภาพก้อนรูปไข่สีดำสนิทเนื้อภายในเรียบ บางครั้งเห็นผนังบางๆสีเทา บริเวณที่ลึกกว่าถุงซิสต์จะเห็นเงาเนื้อเยื่อเต้านมขาวขึ้นกว่าบริเวณที่ไม่มีถุงน้ำขวางทางคลื่นเสียง จำนวนถุงน้ำมีตั้งแต่หนึ่งอันไปจนมากมายนับไม่ถ้วน หากพบลักษณะแบบนี้ ถือว่าไม่มีอันตรายที่ต้องวิตกกังวลว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะนัดตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเว้นระยะเวลาเท่ากับคนปกติ


ถุงน้ำที่ขุ่น (Complicated cyst)


คือถุงน้ำที่มีของเหลวซึ่งไม่ใส อาจจะเกิดจากของเหลวติดเชื้อ มีเลือดออกภายใน หรือมีตะกอนล่องลอยอยู่ภายใน ลักษณะภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นถุงรูปไข่ ขอบเรียบ อาจจะเห็นผนังบาง ส่วนของเหลวภายในไม่เป็นสีดำเรียบเนียนเท่าที่ควร บางครั้งอาจเป็นสีเทาจนแยกยากจากก้อนเนื้องอก แต่ถ้าใช้เข็มเจาะเข้าไปจะดูดได้น้ำ ในขณะที่ก้อนเนื้องอกจะใช้เข็มเจาะดูดไม่ได้ของเหลวออกมา
เนื่องจากเห็นจากภาพอัลตร้าซาวด์อาจจะแยกยากจากเนื้องอก แต่โดยลักษณะของเรียบจึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยมาก (น้อยกกว่าร้อยละ 2) การเจาะไปตรวจยังถือว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องเจ็บตัว แพทย์จึงจะไม่เจาะและนัดติดตามทำอัลตร้าซาวด์เต้านมในระยะถัดปีอีกหกเดือน



กลุ่มของถุงน้ำขนาดเล็ก (Cluster of microcysts)


เป็นถุงน้ำขนาดเล็กๆ (เล็กกว่า 3 มิลลิเมตร) อยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ในภาพอัลตร้าซาวด์จะเป็นเป็นวงกลมหรือรูปไข่สีดำเล็กๆหลายๆอันเกาะกลุ่มเป็นก้อนเดียว เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยมาก (น้อยกกว่าร้อยละ 2) ถ้าแพทย์พบลักษณะเช่นนี้ จะนัดให้ตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมอีกหกเดือนข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่า ความผิดปกตินี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง คือขนาดใหญ่ขึ้นมีเนื้อแทรกมากขึ้น เป็นต้น



ถุงน้ำซับซ้อน (complex cyst)


เป็นถุงน้ำที่พบทั้งส่วนประกอบที่เป็นน้ำและส่วนที่เป็นเนื้อเกาะติดผนังด้านในของถุงน้ำ บางครั้งก็เป็นแผ่นเยื่อแบ่งกั้นถุงน้ำที่หนาๆ หรือเป็นผนังถุงน้ำที่หนาตะปุ่มตะป่ำ ส่วนที่เห็นเป็นส่วนประกอบของเหลวจะสีดำเป็นเนื้อเดียวกันในภาพอัลตร้าซาวด์ ส่วนของเนื้อเยื่อในถุงน้ำจะแสดงเป็นสีเทา กรณีที่ตรวจพบเช่นนี้ โดยทั่วไปจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตั้งแต่ 0.3% - 31% แพทย์จึงแนะนำให้เจาะเก็บเอาส่วนที่เป็นเนื้อมาตรวจพิสูจน์มะเร็ง

ก้อนเนื้องอกรูปไข่ขอบเรียบ (Oval-shaped mass)

ภาพอัลตร้าซาวด์ของก้อนเนื้อชนิดนี้มีลักษณะเป็นรูปไข่วางแนวนอน หมายถึงมีความกว้างมากกว่าความสูง (Wider than tall) ขอบของก้อนจะต้องเรียบ และชัด ถ้ามีหยักก็จะไม่เกินสี่หยัก สีของก้อนมีระดับเทาอ่อนจนถึงเทาเข้มก็ได้ ถ้าก้อนลักษณะแบบนี้จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่ำกว่า 2% ทางการแพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจติดตามอัลตร้าซาวด์เต้านมทุกหกเดือน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของก้อน หากเปลี่ยนแปลงในทางเลวลงชัดเจนก็จะเจาะเก็บเนื้อจากก้อนมาพิสูจน์ หากไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลาสามปี แพทย์ก็จะเลิกติดตามถี่และเปลี่ยนมาตรวจประจำปีเช่นเดิม


ก้อนรูปร่างกลม ขอบหยัก (round microlobulate mass)



ก้อนที่มีลักษณะรูปร่างทรงกลม ขอบชัด แต่ขอบมีหยักมาก (มากกว่า 4 หยักขึ้นไป) ลักษณะอย่างนี้มีโอกาสจะเป็นมะเร็งเกิน 2% ขึ้นไป ดังนั้นแพทย์จะนัดให้เจาะเก็บเนื้อเยื่อจากก้อนไปส่งตรวจพิสูจน์มะเร็ง


ก้อนขอบไม่ชัด (Indistinct mass)



ภาพอัลตร้าซาวด์ที่เห็นก้อนสีดำเข้มกว่าเนื้อเต้านมขอบของก้อนไม่คมชัดและส่วนที่เป็นเงาไม่ชัดหนาล้อมรอบขอบก้อนอย่างผิดปกติ นอกจากนี้บริเวณด้านลึกที่สุดของก้อนมีเงามืดทอดยาวลึกลงไปจนสุดสายตา ลักษณะแบบนี้แสดงถึงความน่าจะเป็นมะเร็งสูง จึงควรรีบมาเจาะเก็บเนื้อจากก้อนไปส่งพิสูจน์มะเร็ง

ก้อนขรุขระ (Irregular mass)



ภาพอัลตร้าซาวด์แสดงให้เห็นก้อนมีรูปร่างขรุขระ ขอบขรุขระ ด้านนอกก้อนมีสีขาวหนาล้อมรอบขอบก้อน ลักษณะเช่นนี้มีความเหมือนโรคมะเร็งได้สูงมาก จึงต้องรีบเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากก้อนส่งพิสูจน์มะเร็ง

อัลตร้าซาวด์มีประโยชน์ในการเสริมความแม่นยำและเพิ่มข้อมูลรอยโรคให้กับการตรวจแมมโมแกรม เมื่อได้ข้อมูลรอยโรคครบถ้วนแล้วรังสีแพทย์จึงสามารถจัดกลุ่มความผิดปกติในเต้านมของคนไข้รายนั้นๆ (Category) ได้โดยใช้หลักมาตรฐาน BIRADS (Breast Imaging Reporting And Data System) ใครสนใจอ่านโปรด คลิก LINK เรื่อง BIRADS 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น