ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่เจ็บ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพ
บทความนี้ขยายความจาก เรื่อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอันดับสองแล้ว จะรับมืออย่างไร" (หากใครยังไม่อ่าน คลิ๊กลิงค์ อ่านได้เลยครับ)

ครั้งนี้จะกล่าวละเอียดถึงวิธี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่หมอพอจะมีประสบการณ์มากกว่าวิธีอื่นๆนะครับ

ใครที่จะได้ประโยชน์จากการอ่านบทความนี้?
หากคุณมีอายุตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นมา หรือมีคนที่รักอายุรุ่นนี้ก็ควรติดตามความรู้นี้นะครับ

อย่างที่ทราบอยู่แล้วว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่จะประมาทได้เลย มันไม่เคยแสดงอาการเตือนตอนมันก่อตัวสักนิด แต่เมื่ออาการเผยตัว มันก็ใหญ่เสียจนกระจายไปบริเวณอื่นแล้ว
คุณลองดูรูปข้างล่างนี่อีกครั้ง
ภาพแสดงก้อนมะเร็งก่อตัวในลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
ภาพบน คือ ภาพสามมิติของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด 
ภาพล่างแสดงก้อนเนื้องอกในลำไส้ใหญส่วนต้น 
1 คือมะเร็งเกิดเป็นติ่งเนื้ออยู่ภายในผนังชั้นใน (เยื่อบุ)ของลำไส้ 
2 คือมะเร็งที่กัดกินทะลุเยื่อบุภายในเข้ามาอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อ (ชั้นกลาง) ของผนังลำไส้ 
3 มะเร็งกัดกินลึกลงมาถึงผนังชั้นนอกสุดของลำไส้แต่ยังไม่ทะลุออกภายนอกลำไส้ 
4 คือมะเร็งทะลุออกนอกลำไส้และแพรกระจายสู่ท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดฝอย ซึ่งสามารถกระจายไปไกลจากต้นกำเนิดได้แล้ว 
จะเห็นได้ว่า แม้แต่มะเร็งทะลุผนังลำไส้ออกมาและกระจายไปตามท่อน้ำเหลืองแล้ว คนไข้ยังอาจไม่มีอาการใดๆได้เนื่องจากก้อนเนื้อไม่ได้อุดท่อลำไส้จนกากอาหารผ่านไม่ได้ กว่าก้อนเนื้ออุดลำไส้จนเกิดอาการท้องผูก มะเร็งก็กระจายออกไปไกลแล้วเสียส่วนใหญ่ ซึ่งการผ่าตัดลำไส้ออกครึ่งหนึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมมะเร็งที่กระจายไปไกลแล้วได้ อีกอย่างหนึ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่นี้ ดื้อยาต้านมะเร็งมาก ยังไม่มียาสูตรไหนกำจัดมันได้ผลดี อย่างมากให้ผลครึ่งหนึ่งเท่านั้น

"เราควรตรวจพบตั้งแต่มันมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร" จะดีกว่าไหม?

หากคุณหรือคนที่คุณรัก เริ่มตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบติ่งเนื้อและเมื่อตัดติ่งเนื้อไปตรวจพบเป็นมะเร็งระยะแรก ก็เพียงตัดลำไส้ส่วนนั้นเป็นช่วงสั้นๆ โอกาสหายขาดสูงมาก 
จะดีกว่าไหม ถ้าเรารักษาชีวิตอันมีค่าและดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับคนที่รักได้อีกนาน?

ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนการตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่?

  1. เตรียมลำไส้ (Bowel Preparation)
  2. ติดฉลากให้กากอาหาร (Fecal tagging)
การเตรียมลำไส้ใหญ่
มีหลายสูตรมาก ขอยกตัวอย่างที่โรงพยาบาลของหมอใช้กันคือ
สองวันก่อนเช้าวันตรวจ 
อาหาร  อาหารที่กินไม่ได้คือ ส่วนของพืชผัก เมล็ดธัญพืช เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ ไขมันพวกเนยหรืออาหารทอด ผัด
อาหารที่รับประทานได้คืออาการอ่อนไร้กากใย ได้แก่ แป้งหรือข้าวหรือเนื้อในของถั่ว (ไม่มีเปลือกของเมล็ด) ขนมปังขาวล้วน เส้นหมี่จากแป้งขาวล้วน เนื้อสัตว์หรือไข่ที่บดละเอียด เป็นต้น
หนึ่งวันก่อนตรวจ
อาหาร รับประทานแต่อาหารเหลวที่ใส แค่ไหนถึงจะเรียกว่าใส คือถ้าใส่แก้วแล้ววางแก้วบนกระดาษหนังสือพิมพ์เรายังเห็นตัวหนังสือที่ก้นแก้วได้นั่นถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าขุ่นจนอ่านตัวหนังสือไม่เห็นก็ไม่ควรดื่ม
ยาระบาย เจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์จะให้ยาระบายมารับประทานในวันนี้ด้วยให้รับประทานตามคำแนะนำ
สารติดฉลากให้กากอาหาร เจ้าหน้าที่จะให้ของเหลวซึ่งเป็นส่วนของสารติดฉลากกากอาหาร คือเมื่อดื่มเข้าไปตามคำแนะนำ สารนี้จะไปเคลือบกากอาหารที่ยังติดต้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ ช่วยให้แพทย์ที่ดูภาพเอกซเรย์แยกแยะได้ว่านั่นคือกากอาหารที่ติดอยู่ ไม่ใช่เนื้องอกของจริง
เช้าวันตรวจ ให้งดอาหาร อาจจะจิบน้ำแก้กระหายบ้าง แล้วมาโรงพยาบาล
การตรวจ
เจ้าหน้าที่จะสวนท่อยางเล็กๆเข้าทวารหนัก ดังรูป
ภาพแสดงการสอดท่อยางเข้าทางทวารหนัก ไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด

ภาพแสดงขนาดท่อยางที่สอดปลายเข้าทางทวาร ขนาดเล็กเท่าหลอดกาแฟเท่านั้นเอง

 แล้วใส่ลมเข้าทางท่อนี้เพื่อให้ลำไส้ใหญ่พองตัวเต็มที่ ผู้ตรวจจะรู้สึกตึงท้องเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เจ็บแต่อย่างใด จากนั้นจะถอดท่อออกจากทวาร ผู้ตรวจต้องกลั้นลมไว้ให้นานจนกระทั่งการสแกนเสร็จ
ผู้รับการตรวจนอนอยู่บนเตียงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดังรูป
ภาพแสดงผู้ป่วยนอนตรวจในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตัวรับภาพเอกซเรย์ติดตั้งอยู่ภายในอุโมงรูวงแหวน (สีครีม) เมื่อเตียงตรวจเลื่อนเข้าในอุโมงวงแหวนตัวรับภาพเอกซเรย์จะหมุนไปรอบตัวผู้รับการตรวจและคอมพิวเตอร์จะแปลสัญญาณออกมาเป็นภาพตามที่ซอฟแวร์ต้องการ

เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ตรวจนอนหงายและสแกนหนึ่งครั้ง แล้วให้นอนคว่ำและสแกนภาพอีกหนึ่งครั้งก็จะเสร็จกลั้นหายใจครั้งละไม่เกิน 20 วินาที
เวลาการตรวจทั้งหมดไม่เกินครึ่งชั่วโมง
จากนั้นเจ้าหน้าที่เทคนิคจะให้ผู้ตรวจรับประทานอาหารตามปกติได้และนัดมารับทราบผลตรวจ

ตัวอย่างภาพจากซอฟแวร์ประมวลผลต่างๆ
ภาพลำไส้ใหญ่มุมมองเหมือนการผ่าลำไส้แล้วคลี่ออกให้แบนๆ สีฟ้าเล็กๆในภาพคือติ่งเนื้อที่ตรวจพบ ซึ่งต้องนัดผู้ป่วยมาส่องกล้องเพื่อตัดติ่งเนื้อไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง

ภาพในมุมมองส่องกล้อง ภาพจะเหมือนเราเดินทางเข้าไปสำรวจอุโมง (ซึ่งเป็นอุโมงลำไส้ใหญ่) เราเห็นตุ่มนูนๆ อันหนึ่ง นี่คือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ซึ่งต้องนัดมาส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์มะเร็งอีกครั้งหนึ่ง

ค่าใช้จ่าย
โดยประมาณแต่ละแห่งในโรงพยาบาลเอกชนจะมี่ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000-12,000 บาท
การตรวจนี้จะทำทุกๆ 5 ปี ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายก็จะเฉลี่ย 2000-2400 บาทต่อปี
หากแต่ละคนที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะดูแลตัวเองเช่นนี้ได้ ก็นับว่าคุณโชคดีจริงๆ เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากไม่ทราบหรือไม่มีโอกาสนี้

คุณเองก็มีโอกาสบอกเล่าความจริงนี้ให้กับคนที่คุณปรารถนาดีต่อๆไป

แล้วพบกับบทความน่าสนใจอื่นๆต่อๆไป โปรดติดตามนะครับ

อ้อ! อย่าลืมกด Like ให้ด้วยนะครับ

กลับยังหน้า สารบัญบทความ

ระวัง ก้อนที่คอ ตอน 2: ก้อนของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์อยู่ตรงไหน?
ดูรูปก่อนเลยครับ...
ภาพต่อมไทรอยด์

มันอยู่ด้านหน้าของลำคอ ข้างๆแนวกึ่งกลางออกมาทั้งสองข้าง และวางอยู่ข้างๆหลอดลมที่อยู่ถัดจากกล่องเสียงลงมาเล็กน้อย ดูรูป
ภาพแสดงต่อมไทรอยดืวางตัวอยู่หน้าหลอดลมใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์

มีความสำคัญอย่างไร?
ต่อมไทรอยด์ ช่วยผลิตสารควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกายและควบคุมระดับแร่ธาตุแคลเซียมในกระแสเลือดให้สมดุล

ก้อนในต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร?
ปกติแล้วต่อมไทรอยด์จะไม่มีก้อนเลย แต่ถ้าก้อนพัฒนาขึ้นมาก็จะผิดปกติ ดังภาพตอนล่าง

เจ้าต่อมนี่ มันเกิดก้อนได้บ่อยแค่ไหน?
หากตรวจพบโดยการคลำจะพบได้ ราว 4%-8% ในผู้ใหญ่
แต่หากตรวจพบโดยการทำอัลตร้าซาวด์ จะพบถึง 10%-41% (ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าคนที่คลำไม่ได้ก็จะถูกตรวจเจอด้วย)
จากการศึกษาโดยการตรวจศพพบได้ถึง 50% (ซึ่งแปลว่าสุ่มในคนสูงอายุจะพบได้เพิ่มขึ้น)

จากการพิสูจน์โดยการเจาะตรวจคนที่เป็นก้อนในต่อมไทรอยด์ พบมะเร็ง 9.2%-13.0%

เราจะกรองหาก้อนในต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร? ตรวจคลำด้วยตนเอง
โดยใช้นิ้วคลำทั่วๆถ้ารู้สึกสะดุดนูนๆตรงไหนไม่แน่ใจให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจแน่ใจอีกสักที
ดูวิธีตรวจแบบบ้านๆตามวิดีโอข้างล่างนี้ครับ

สำหรับใครที่ดูวิดีโอไม่ได้ ลองเข้าลิงค์นี้ครับ การตรวจคลำต่อมไทรอยด์

ตรวจด้วยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทำอัลตร้าซาวด์ที่คอ 
วิธีนี้จะละเอียดกว่าและตรวจได้เนิ่นๆตั้งแต่ยังคลำไม่เจอ
ภาพแสดงการตรวจหาก้อนในต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์

การตรวจด้วยการคลำคอไม่สามารถแยกแยะลักษณะมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ (ได้แต่ก้อนใหญ่ๆ) ซึ่งสมัยนี้คงต่ำกว่ามาตรฐานชีวิตของคนเราแล้ว
ตัวอย่างภาพอัลตร้าซาวด์ของต่อมไทรอยด์ที่ปกติครับ
ภาพอัลตร้าซาวนด์ของต่อมไธรอยด์ที่ปกติ เนื้อจะละเอียดใกล้เคียงกัน

การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์จึงมีความจำเป็นในการแยกลักษณะของก้อน ตามลำดับขั้นตอนการส่งตรวจ 
ภาพอัลตร้าซาวด์ของก้อนในต่อมไทรอยด์
ภาพอัลตร้าซาวด์แสดงก้อนในต่อมไทรอยด์ โดยตัวอย่างรายนี้ ก้อนในต่อมไทรอยด์ข้างซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าก้อนที่พบในต่อมไทรอยด์ขวา


จากลักษณะอัลตร้าซาวด์ของก้อนในต่อมไทรอยด์ จึงนำมาแจกแจงระดับโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ และขนาดของก้อนที่ควรได้รับการเจาะพิสูจน์มะเร็งดังต่อไปนี้
ตารางแจกแจงโอกาสเสี่ยงมะเร็งของก้อนในต่อมไทรอยด์จากลักษณะอัลตร้าซาวด์



ก้อนที่ลักษณะที่สงสัยมะเร็งมาก แพทย์จะแนะนำให้ใช้เข็มเล็กๆเจาะเก็บเซลล์เนื้อเยื่อจากก้อนไปพิสูจน์มะเร็ง
(สำหรับลักษณะทางภาพอัลตร้าซาวด์ที่จะแยกแยะว่าก้อนลักษณะใดจำเป็นต้องเจาะ นั้นเกินขอบเขตที่ทางประชาชนทั่วไปจะต้องทราบ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ในการให้ความเห็นจะเหมาะสมกว่า)
ภาพการเจาะเก็บเซลล์โดยใช้อัลตร้าซาวดน์นำทาง
ภาพแสดง แพทย์ใช้อัลตร้าซาวด์นำทางให้สอดเข็มเข้าไปเก็บเซลล์เนื้อเยื่อจากก้อนในต่อมไทรอยด์เอาออกมาตรวจพิเศษทางเซลล์วิทยา



ภาพอัลตราซาวด์จอมอนิเตอร์แสดงให้เห็นเข็มเข้าไปก้อนของต่อมไทรอยด์อย่างแม่นยำ

ภาพอัลตร้าซาวด์แสดงเข็ม (รอยเส้นตรงสีขาว) เข้าไปในก้อน (วงล้อมสีแดงคือหมอวาดรอบล้อมขอบเขตก้อน) แสดงว่าเข็มเข้าไปในก้อนแน่นอน ไม่ผิดพลาด
เซลล์ที่เก็บได้จากก้อนจะถูกนำไปย้อมสีพิเศษเพื่อตรวจด้วยกล้องกำลังขยายสูงหาความผิดปกติต่อไป
ภาพแสดงตัวอย่างเซลล์มะเร็งจากก้อนในต่อมไทรอยด์ชนิดหนึ่ง ดูด้วยการย้อมสีพิเศษและขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์
หากพบมะเร็งไทรอยด์ จะให้การรักษาตามหลักทางการแพทย์ต่อไป

สำหรับผู้ที่พบก้อนเนื้อไม่ว่าจะคลำพบหรือตรวจพบโดยเครื่องมือแพทย์ และยังไม่สงสัยมะเร็ง ควรตรวจติดตามเป็นระยะด้วยอัลตร้าซาวด์ทุกๆ 6 เดือน 
เมื่อติดตามไปสักระยะหนึ่ง(อาจจะประมาณสองปี) แพทย์เห็นว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง ก็สามารถเลื่อนระยะเวลาติดตามอาการห่างขึ้นไปเป็นปีละครั้งต่อไป

"มะเร็งต่อมไทรอยด์ อาจกระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายแล้วตั้งแต่เราคลำพบก้อน หากเราใส่ใจตัวเองคลำต่อมไทรอยด์ของเราเป็นระยะๆ และไปให้แพทย์ตรวจให้บ้างก็จะช่วยให้เรามีโอกาสพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่าการรอให้ก้อนใหญ่แล้วค่อยไปพบแพทย์"



ค้นหาสถานที่ตรวจอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์ ที่นี่

https://www.facebook.com/brxggroup/

แผนที่

https://goo.gl/maps/2MeKBWY5dgDj4ysK6


หากมีข้อสงสัยต้องการถามในบล็อกนี้ โปรดพิมพ์คำถามในกล่องความเห็นข้างล่างนี้ครับ

กลับสู้หน้า สารบัญบทความ





การเจาะปอดผ่านทางผิวหนัง (Transthoracic Needle Biopsy)

การเจาะปอด ฟังดูแล้ว น่ากลัวจินตนาการไปว่าจะมีมีดหรือสว่านใหญ่ๆหมุนทะลวงทางหน้าอกเข้าไปข้างในคงจะเจ็บหน้าดู นะครับ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นแค่เข็มเล็กๆสอดผ่านผิวหนังเข้าไปยังรอยโรคในปอดเท่านั้นดังรูปด้านล่าง
แผนภาพแสดงการเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากก้อนในปอด
ลองติดตามดูนะครับ

เมื่อไรจะเจาะปอด?
เมื่อพบรอยผิดปกติจากภาพเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องมะเร็งในทรวงอกออกไปได้ หรือแพทย์ต้องการดูเนื้อเยื่อว่าจะเป็นความผิดปกติแบบใด จะได้เดินหน้ารักษาต่อไปได้ถูกทาง

เกี่ยวกับอาการหรือไม่?
ผู้ที่พบรอยผิดปกติจาพภาพเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีสองประเภท
ประเภทที่หนึ่ง กลุ่มสบายดี แต่มาตรวจสุขภาพเจอรอยโรค แล้วส่งพบแพทย์โรคทรวงอกพิจารณาแล้ว ควรเจาะพิสูจน์เพื่อวางแผนจัดการต่อไป
ประเภทที่สอง กลุ่มมีอาการ มาพบแพทย์ส่งเอกซเรย์ตรวจเจอรอยโรค ส่งพบแพทย์ทางโรคทรวงอกแล้ว พิจารณาว่าควรพิสูจน์เนื้อเยื่อเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
แน่นอนว่าประเภทที่หนึ่งย่อมมีโอกาสพบรอยโรคมะเร็งระยะแรกๆ ส่วนประเภทที่สองจะพบรอยโรคที่เป็นมากกว่า
ตัวอย่างรอยโรคในเอกซเรย์ทรวงอก 
ผู้ป่วยรายหนึ่งมาด้วยอาการเจ็บหัวไหล่ขวา ภาพเอกซเรย์ทรวงอกพบก้อนกลมขนาดใหญ่ติดกับช่องอกด้านขวาบน (ลูกศรชี้

จะเตรียมตัวก่อนเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากทรวงอกอย่างไร?
รังสีแพทย์จะตรวจสอบประวัติดูก่อนว่ามีข้อห้ามในการเจาะหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นภาวะที่แก้ไขได้ หลังจากแก้ไขข้อห้ามเหล่านี้แล้วก็จะสามารถเจาะปอดได้

ข้อห้ามในการเจาะ ได้แก่
ภาวะเลือดแข็งตัวช้า จากโรคประจำตัว หรือจากยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากแผลจากรูเจาะแม้จะเล็กแต่หากเลือดจับตัวเป็นก้อนได้ช้าก็อาจเสียเลือดมากได้ เราจึงต้องแก้ไขภาวะนี้ให้ปกติก่อนทำการเจาะ
ภาวะถุงลมโป่งพอง หรือคนไข้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่่ ก็เสี่ยงจะเกิดลมรั่วในช่องอกง่าย
ตรวจสอบประวัติแล้วยังไม่พอยังต้องตรวจเลือดหาค่าการแข็งตัวของเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะมีวิธีแก้ไข เช่น การให้หยุดใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวยาก, การให้น้ำเลือด หรือเกร็ดเลือดได้หรือไม่
การงดน้ำและอาหาร มักจะงดประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนเวลาเจาะ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจ (อันนี้เป็นการป้องกันไว้ก่อน เพราะไม่แน่บางครั้งผู้ป่วยกลัวจนเกิดอาการชัก อาจสำลัก)

กระบวนการเจาะเนื้อเยื่อทรวงอกทำอย่างไร?
ผู้ป่วยจะนอนบนเตียงที่จัดเตรียมมีเครื่องเอกซเรย์วิดีโอ (Fluoroscopy) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) 
ภาพแสดงผู้ป่วยรับการเจาะปอดบนเตียงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

พยาบาลจะวัดความดันโลหิตและชีพจรของผู้ป่วยก่อนการทำหัตถการเพื่อเอาไว้เปรียบเทียบกับหลังการเจาะ และจะตรวจจับชีพจรและความเข็มข้นออกซิเจนในเลือด(วัดจากปลายนิ้ว) 
เมื่อเครื่องเอกซเรย์วิดีโอหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สแกนภาพรอยโรคเจอแล้วแพทย์จะวางแผนหาแนวที่จะสอดเข็มผ่านผิวหนังเข้าไป 
หลังจากนั้นแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ปิดผ้าคลุมสะอาดรอบๆบริเวณที่จะเจาะ
ฉีดยาชาเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดระหว่างเจาะ หลังจากนั้นจะสอดเข็มพิเศษเข้าไป สแกนภาพและปรับทิศทางและความลึกของเข็มเป็นระยะ จนกว่าเข็มเข้าไปถึงตำแหน่งรอยโรคที่ต้องการเก็บเนื้อเยื่อ
แผนภาพแสดงการสอดเข็มเข้าไปถึงรอยโรคในทรวงอกผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะดูภาพของเข็มได้จากการสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และปรับทิศทางเข็มเป็นระยะจนกว่าปลายเข็มจะถึงรอยโรค

เข็มที่เจาะเนื้อเยื่อจะต่างกับเข็มฉีดยาทั่วไป ต้องเป็นเข็มที่พิเศษมีกลไกพิเศษให้สามารถเฉือนเนื้อเยื่อให้เก็บไว้ในรูเข็มได้ 
ขนาดเส้นผ่านศุนย์กลางของเข็มโดยทั่วไปจะไม่เกิน 0.035 นิ้ว(0.91 มิลลิเมตร)
เข็มเจาะชิ้นเนื้อแบบพิเศษ
ตัวเข็มมีกลไกสำหรับตัดชิ้นเนื้อแล้วเก็บเข้ามาอยู่่ในรูเข็มได้
ภาพแสดงปลายเข็มเจาะเนื้อเยื่อมีร่องสำหรับเก็บเนื่อเยื่อหลังจากเข็มเฉือนเนื้อเยื่อได้แล้วจะเก็บเนื้อเยื่อเล็กๆไว้ในร่องนี้

หลังจากเจาะแล้วเนื้อเยื่อเข้ามาอยู่ในร่องของปลายเข็ม
ภาพแสดงเนื่อเยื่อที่เข็มตัดได้เก็บไว้ในร่องของเข็ม เมื่อดึงเข็มออกมาและเปิดกลไกเข็มออกจะเขี่ยเนื้อเยื่อออกมาส่งตรวจทางพยาธิวทยาต่อไป

หลังการเจาะเป็นอย่างไร?
หลังจากแพทย์นำเข็มออกจากทรวงอก แพทย์จะกดปากรูเข็มเพื่อห้ามเลือด ปริมาณเลือดที่ออกจะน้อยมาก (เพียงสองสามหยด) โดยส่วนใหญ่
มีผู้ป่วยบางรายที่อาจไอออกมามีเลือด กรณีนี้เกิดจากตอนเข็มเจาะเข้าในรอยโรค รอยโรคนี้มีการติดต่อกับหลอดลมของปอดเมื่อเลือดไหลเข้าไปในหลอดลมจะระคายเคืองหลอดลมและไอมีเลื่อดปนออกมาโดยส่วนใหญ่เลือดจะหยุดเอง แพทย์จะอธิบายล่วงหน้าไม่ให้ผู้ป่วยตกใจ มีเพียงน้อยรายมากที่มีไอแล้วเลือดอออกมากและนานจนต้องทำการรรักษาด้วยการอุดหลอดเลือดของหลอดลม
เมื่อแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกจากรูเข็มแล้ว จะสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อีกครั้งเพื่อเช็คให้แน่ใจว่าไม่ลมรั่วออกจากปอดเข้าไปขังในช่องว่างในช่องอก จนกระทั่งผู้ป่วยรู้สึกอีดอัด ซึ่งน้อยรายมากที่จำเป็นต้องระบายลมรั่วที่คั่งออกด้วยการใส่สายระบายลมผ่านทางผิวหนัง
หากไม่มีเลือดออกจากรูปากแผลแล้ว จะปิดคลุมแผลด้วยพลาสเตอร์ไว้นาน 24 ชั่วโมง แผลก็จะสมานได้เองโดยไม่ต้องเย็บปากแผล เนื้องจากรูเข็มขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปไม่เกิน 2 มิลลิเมตร
ขั้นตอนต่อไปเป็นการสังเกตอาการในโรงพยาบาลไว้นาน 4 ชั่วโมง ระหว่างนี้จะมีพยาบาลคอยติดตามชีพจรและวัดความดันโลหิตที่แขนเป็นะรยะทุก 15 นาที
แพทย์อาจถ่ายภาพเอกซเรย์เช็คดูลมรั่วในปอดหลังการเจาะ ครึ่งชั่วโมง และสีชั่วโมง
เมื่อครบเวลาสี่ชั่วโมงและผู้ป่วยไม่มีอาการไอปนเลือด ไม่หายใจติดขัดหรือเหนื่อย มีชีพจรและความดันโลหิตไม่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนการเจาะ ไม่มีลมรั่วในช่องอกระดับที่ต้องรักษา แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้
ผลวิเคราะห์เนื้อเยื่อ จะรับรู้ภายใน 2-7 วันขึ้นอยู่กับชนิดของการส่งตรวจ

หากมีคำถามเพิ่มเติมใดๆ ท่านสามารถถามในช่องแสดงความคิดเห็นท้ายบทความได้ครับ

ดูบทความอื่นๆอีก กรุณา กลับไปยังหน้า สารบัญบทความ

มะเร็งปอด อัพเดทแนวทางการค้นพบ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่น่ารัก 

พบกับบทความของ หมอรัฐวัชร์ อีกครั้งนะครับ
มาคราวนี้ หมอมีเรื่อง "มะเร็งปอด" มาบอกเล่า


ภาพวาดแสดงตัวอย่างมะเร็งที่เกิดขึ้นในปอด

แต่จะไม่ขอกล่าวถึงเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับบทความจากเว็บที่อื่น จะได้ไม่ยืดยาวเกินไป ซึ่งคุณผู้อ่านที่รักสามารถค้นหาอ่านได้ทั่วไปได้อยู่แล้วนะครับ
เราจะเข้าประเด็นสำคัญๆที่ชัดเจนสำหรับคุณไปเลยดีกว่า ไหมครับ?

มะเร็งปอดพบบ่อยไหม?
พบบ่อยนะครับ แค่ไหนนะหรือ?  ติดหนึ่งในห้าอันดับแรกของมะเร็งทั้งหมดเลยเชียว

สาเหตุแน่นอน?
ไม่ทราบ

วิธีลดความเสี่ยง
โดยสรุป ไม่รับประกันว่าจะป้องกันได้ 100% ตัวอย่างเช่น
คุณเลิกสูบบุหรี่ได้ไหม?
ได้หรือไม่ได้ แล้วแต่คุณ
คุณหนีอากาศเสียได้ไหม?
ได้ แต่ก็ยากกว่าเลิกบุหรี่อีกใช่ไหมครับ
คุณห้ามอายุไม่ให้แก่เกิน 40 ปีได้ไหม?
ไม่มีทาง ! เลย
มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งปอด
จะห้ามยังไงเนี่ย?

ควรจะรอให้มีอาการก่อนไหม?
ไม่ควร เพราะเกือบทั้งหมดมีอาการและมาตรวจพบก็จะเข้าระยะที่รักษาไม่หายขาดเสียแล้วครับ
แต่ก็ยังมีอีกผู้อ่านอีกจำนวนมากยังอยากทราบอาการอยู่ดี จึงขอบอกให้ทราบด้วย แต่อย่าไปคาดหวังกับอาการมากเพราะมันเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง อาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้ หมอจึงไม่อยากเน้นมากนัก ได้แก่ ไอ, ไอเป็นเลือด, หายใจเหนื่อย, หายใจมีเสียงวีีด, เจ็บหน้าอก หรือ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

จะตรวจหามะเร็งระยะแรกได้อย่างไร?

เดิมทำอย่างไร?
ที่เราปฏิบัติกันแม้กระทั่งทุกวันนี้ คือการเอกซเรย์ทรวงอกปีละหนึ่งครั้ง กลับกลายเป็นว่า ไม่ช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้ครับ เพราะภาพเอกซเรย์ทั่วไปไม่ละเอียดพอที่จะเจอเนื้องอกมะเร็งขนาดเล็กที่อาจซ้อนทับกับอวัยวะอื่นนั่นเอง 
ตัวอย่างภาพเอกซเรย์ทรวงอก ในกรอบสี่เหลี่ยมจะเห็นก้อนกลมๆสีขาว ตรงนั้นคือเนื้องอก เมื่อเจาะตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอด คุณคิดว่าหากก้อนกลมนี้บังเอิญเกิดขึ้นซ้อนทับกับเงาสีขาวตรงกลาง เราจะมองเห็นมันไหม?
ด้านล่างนี่คือ ภาพเอกซเรย์ทรวงอกที่ปกติ
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกที่ดูแล้วปกติ เป็นภาพขาวดำสองมิติ เนื้อปอดบรรจุอากาศอยู่มากกว่าเนื้อเยื่ออื่นจึงเห็นเป็นสีดำ แต่เนื่องจากทีการทับซ้อนกับอวัยวะอื่นอยู่บ้างเช่นหัวใจตรงกลาง และกระดูกสันหลังตรงกลาง (เห็นเป็นปล้องๆ)
ภาพต่อไปนี้คือเอกซเรย์เหมือนภาพเดิมข้างต้นแต่ หมอได้วาดกรอบแสดงส่วนที่มีโอกาสบังรอยโรคทำให้มองไม่เห็นก้อนได้ชัด
ภายในขอบเขตของเส้นสีเขียวนี้ จะเห็นว่าเป็นเงาสีขาวทึบ หากว่ามีก้อนเกิดทับซ้อนกับบริเวณนี้จะสังเกตเห็นได้ยาก กว่าจะเห็นต้องรอให้ก้อนโตขึ้นมาอีกระยะหนึ่ง

แล้วทำอย่างไรให้เจอมะเร็งปอดเร็ว?
ต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก (low dose CT Scan) ครับ วิธีนี้เห็นก้อนเนื้องอกตั้งแต่ยังขนาด 5 มิลลิเมตร ทำให้ผ่าตัดได้ทันเวลาครับ
ภาพขั้นตอนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงล้อมรอบด้วยอุโมงรูปวงแหวน ขณะที่สแกนหลอดเอกซเรย์จะหมุนรอบตัวผู้รับการตรวจ เวลาสแกนแค่ไม่เกิน 20 วินาทีเท่านั้นเอง ไม่มีการสอดเข็มหรือทำให้เจ็บปวดใดๆในขั้นตอนนี้ครับ
ภาพที่ได้ให้รายละเอียดมากกว่า
ภาพอธิบายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ลองนึกถึงภาพขนมปังที่ถูกหั่นเป็นแผ่นบางๆจนทั่วทั้งก้อน หรือคุณหั่นผลส้มออกเป็นแผ่นๆ แล้วหยิบแต่ละแผ่นมาดูอย่างละเอียด แน่นอนว่าคุณจะต้องทราบรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าการดูภาพ 2 มิติแน่นอน

ลองเปรียบเทียบภาพเอกซเรย์ธรรมดากับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูนะครับ

ข้างล่างนี้คือภาพเอกซเรย์ทรวงอกทั่วไป



รูปภาพเดียวกับภาพบนก่อนหน้า แต่ให้สังเกตจุดสีแดงซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นก้อนเล็กๆซึ่งสังเกตได้ยาก


นี่คือภาพส่วนหนึ่ง (เปรียบได้กับแผ่นหนึ่งของขนมปัง) ของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เลือกเฉพาะส่วนที่เห็นก้อนเล็กๆ ที่เอกซเรย์ธรรมดามองไม่เห็น
ก้อนเล็กขนาดนี้ (เล็กกว่า 1 ซม) และซ้อนอยู่หลังเงาหัวใจในภาพเอกซเรย์ธรรม ไม่สามารถเห็นได้แต่ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่มีการทับซ้อนเลยเห็นได้ชัดเจน
นอกจากนี้ เรายังสามารถดูภาพได้ในหลายแนว หลังจากสแกนเสร็จ เราสามารถให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพในแนวผ่าร่างกายได้หลายแนว ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
ภาพแสดงมุมมองของก้อนเนื้องอกในหลายๆแนว ช่วยให้มองเห็นได้รอบด้านมากขึ้น

ใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์?
ถ้าไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายก็ควรทำทุกคนตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปครับ ปีละหนึ่งครั้ง
ปัญหาหลักคือ ค่าใช้จ่าย ตกปีละประมาณห้าพันบาท ใครที่มีกำลังจ่ายพอ ก็คิดว่าคุ้มครับ
ถ้าใครคิดว่าอายุมากแล้ว ถึงตรวจเจอก็ไม่ได้รักษาอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องทำละครับ

แล้วคนสูงอายุถ้าตรวจพบก้อนเนื้องอกระยะแรก แต่ร่างกายไม่เหมาะสมที่จะรับการผ่าตัด จะทำยังไง?
เราพอมีวิธีอื่นอีกไหม ? ต้องลองอ่านดูบทความนี้ครับ 

การรักษามะเร็งปอดด้วยเข็มความร้อน

 ลิงค์ กลับสู่หน้าสารบัญบทความ

มะเร็งปอด: การรักษาด้วยเข็มความร้อน

มะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งที่พบมากอันดับต้นๆทั้งในเพศชายและเพศหญิงและคร่าชีวิตคนในโลกนี้ในวัยกลางคนและสูงอายุไปจำนวนมาก
สถานการณ์
มะเร็งปอดยังพบผู้ป่วยมากขึ้น แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของมะเร็งปอดที่เราทราบกันว่า คือ การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เรายังพบว่ามะเร็งปอดในเพศหญิงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุหรี่ เพิ่มขึ้น สาเหตุนั้นยังไม่ทราบ ได้แต่สันนิษฐานเรื่องมลพิษต่างๆ ซึ่งก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดนัก
ดังนั้นการป้องกันมะเร็งปอด นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่แล้ว ก็ไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจงใดๆ 
การรักษามะเร็งปอดด้วยเข็มความร้อน (Thermal Ablation)
คือการใช้เครื่องมือสแกนภาพร่างกาย เช่น เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นตัวนำวิถี ให้แพทย์สอดเข็มเข้าไปถึงเนื้องอกในปอด เชื่อมต่อเข็มกับเครื่องกำเนิดความร้อนควบคุมให้เกิดความร้อนรอบๆปลายเข็มให้ทำลายเฉพาะตัวก้อนโดยหลีกเลี่ยงการทำลายเนื้อเยื่อปกติ
(เราสามารถทำลายเนื้องอกมะเร็งได้ด้วยทั้งความร้อนหรือความเย็นจัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ทางโรงพยาบาลนั้นจัดหาได้)
ภาพแสดงเข็มสอดเข้าไปถึงก้อนเนื้องอกในปอด ส่วนของโคนเข็มจะต่อกับแหล่งกำเนิดความร้อนเพื่อสร้างความร้อนบริเวณปลายเข็มให้ทำลานมะเร็งปอด

การขจัดมะเร็งด้วยเข็มความร้อน
แหล่งกำเนิดความร้อนที่มีขายปัจจุบันมีสองระบบคือ ระบบคลื่่่นวิทยุ (Radiofrequency) และระบบคลื่นไมโครเวฟ (Microwave)
ตัวอย่างเครื่องกำเนิดคลื่นวิทยุที่จะเปลี่ยนเป็นความร้อนที่ปลายเข็ม
ปัจจุบันเข็มความร้อนยังมีข้อจำกัดในการแผ่รัศมีความร้อนรอบเข็มได้ไม่เกิน 2.5 ซม. นั่นคือ การทำลายก้อนมะเร็งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 ซม. ต่อการสอดเข็มหนึ่งทิศทาง ดังนั้นหากก้อนเนื้องอกที่ขนาดใหญ่กว่า 3 ซม.ขึ้นไป มักจะต้องเปลี่ยนทิศทางเข็มหลายๆแนวและทำลายก้อนหลายรอบในการรักษาครั้งนั้น
แผนภาพแสดงหลักการทำลายมะเร็งด้วยเข็มความร้อน
วิธีนี้ยังไม่ถือว่า เป็นการรักษาให้หายขาด เป็นเพียงแค่การควบคุมมะเร็งเฉพาะที่ให้เล็กลง ดังนั้นหากโรคที่ผู้ป่วยนั้นสามารถผ่าตัดปอดได้ ควรรักษาด้วยการผ่าตัดก่อนจะเลือกวิธีเข็มความร้อน
การใช้เข็มความร้อนจึงมีที่ใช้ในกรณี

  • ก้อนมะเร็งเล็กสามารถรักษาโดยการผ่าตัดจะดีกว่า แต่แพทย์ประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วยแล้วไม่สามารถทนรับการผ่าตัดได้
  • ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไ่ม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดเนื้องจากติดกับอวัยวะสำคัญอื่น เช่น หลอดลม หลอดเลือดใหญ่ ผนังช่องอก

การเตรียมตัว

  • แจ้งแพทย์ให้ทราบว่า ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาหรือภูมิแพ้ใดๆบ้าง รวมทั้งโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการให้ยาระงับความรู้สึกตัว
  • แพทย์อาจเน้นให้ผู้ป่วยจำกัดยาหรืออาหารบางอย่างก่อนวันตรวจและตรวจเลือด
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารตามระยะเวลาที่ระบุก่อนวันรักษา
  • จะต้องเตรียมบุคคลที่จะเป็นผู้นำผู้ป่วยกลับบ้านหลังการรักษา

ขณะที่รักษาเป็นอย่างไร?

  • แพทย์จะจัดให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจที่มีการวัดความดันโลหิต ชีพจร
  • พยาบาลจะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ สำหรับเป็นช่องทางให้ยาระงับความรู้สึก
  • แพทย์จะสแกนทรวงอกผู้ป่วยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อระบุตำแหน่งก้อนมะเร็ง
  • แพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะสอดเข็มเข้าช่องอก
  • จะฉีดยาชาบริเวณทีจะสอดเข็ม
  • โดยการนำวิถีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะสอดเข็มเข้าไปผ่านทางผิวหนังและปรับทิศทางและความลึกเป็นระยะจนกระทั่งตำแหน่งปลายเข็มอยู่ในก้อนมะเร็ง
    ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงปลายเข็มอยู่ในตำแหน่งก้อนมะเร็งพอดี
  • การปล่อยความร้อนแต่ละรอบ จะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 30 นาที หากแพทย์เห็นว่ายังให้ความร้อนไม่ทั่วก้อน อาจพิจารณาหรับตำแหน่งเข็มและปล่อยความร้อนในรอบต่อไปตามแต่ละกรณี
  • กรณีเสร็จจากการให้ความร้อน แพทย์ถอนเข็มออกและปิดพลาสเตอร์คลุมแผลเพื่อป้องกันการเสียเลือด

การพักฟื้น

  • หลังการสอดเข็มความร้อน ผู้ป่วยอยู่ในห้องสังเกตอาการ จะได้รับการวัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะๆ และถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะปอดแฟบจากลมรั่วคั่งในช่องอกหรือไม่ หากพบภาวะนี้ แพทย์อาจพิจารณาใส่ท่อระบายลมรั่วในช่องอกให้ผู้ป่วย
  • ต่อมาเมื่อแน่ใจว่าชีพจรและความดันโลหิตปกติและไม่พบภาวะปอดแฟบแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้ย้ายผู้ป่วยไปยังหอพักผู้ป่วยปกติได้ 
  • โดยปกติระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตปกติได้ภายในไม่กี่วันหลังการรักษา
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณที่สอดเข็ม หรืออาจจะมีไข้ต่ำๆได้

ผลการรักษา
หลังจากการให้ความร้อนบริเวณเนื้องอกจะกลายเป็นเนื้อตายบริเวณกว้างกว่าขนาดเนื้องอกเดิม (เราต้องทำลายบริเวณปกติเหลือออกไปจากเนื้องอกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าความร้อนแผ่คลุมเนื้องอกได้ทั้งหมด
ในเวลาต่อมาบริเวณเนื้อตายก็จะฝ่อหายไปเหลือแต่เพียงแผลเป็นเล็กๆ
ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงเนื้องอกในระยะเวลาต่างๆ บนซ้าย (PRE) แสดงเนื้องอกก่อนรักษา บนขวา (POST) แสดงบริเวณให้ความร้อนหลังให้การรักษาใหม่ๆ จะเห็นบริเวณขาวๆกว้างใหญ่ขึ้นนี่คือบริเวณที่เนื้อเยื่อตายหลังจากถูกความร้อน ล่างซ้าย (3 Months) 3 เดือนหลังการรักษาจะเห็นบริเวณเนื้อตายหดเล็กลง เริ่มถูกแทนที่ด้วยแผลเป็น ล่างขวา (1 Year) 1 ปีหลังการรักษา เหลือเพียงขีดแผลเป็นหรือพังผืดเล็กๆ การที่รอยโรคหดเล็กลงเป็นเครื่องยืนยันว่ามะเร็งได้ถูกทำลายหมดแล้ว
นี่เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาเฉพาะที่เพื่อลดขนาดของมะเร็งในปอด
ก่อนจะให้การรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษา เพื่อให้ประสิทธิภาพการให้ยาหรือรังสีรักษาดีขึ้นและเป็นการบรรเทาอาการของผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

กลับสู่ หน้า "สารบัญบทความ"

น้ำในช่องท้อง

โดยปกติช่องว่างในท้องของคนเรามีน้ำอยู่เพียงเล็กน้อย (แค่ฉาบอยู่รอบๆอวัยวะภายในช่องท้องเท่านั้น เราจึงมองไม่เห็นน้ำจากการตรวจด้วยเครื่องมือภาพ ไม่ว่าจะเป็นอัลตร้าซาวดน์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอ็ม อาร์ ไอ
ภาพแสดงช่องว่างภายในท้องบรรจุอวัยวะภายในอยู่จะไม่เห็นน้ำรอบๆอวัยวะเนื่องจากน้ำน้อยมากๆ

แต่เมื่อเกิดความผิดปกติจนมีน้ำในช่องท้องมากขึ้น (ด้วยหลายสาเหตุมากมาย) ก็ถึงคราวที่จะหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของน้ำในช่องท้อง
รูปช่องท้อง สีฟ้าแสดงถึงปริมาณน้ำในช่องท้องที่่เกินภาวะปกติ

หากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางภาพถ่ายร่างกาย ก็เพียงพอที่แพทย์จะสรุปสาเหตุของน้ำในช่องท้องแล้ว การเจาะเอาน้ำมาตรวจก็ไม่มีความจำเป็น 

การเจาะน้ำในท้องจึงมีข้อบ่งชี้เฉพาะสองประการเท่านั้นคือ

1. เพื่อนำน้ำในช่องท้องมาวิเคราะห์ หาสาเหตุความเจ็บป่วย

2. เพื่อระบายน้ำที่มีปริมาณมากออก ช่วยลดความอึดอัดแน่นท้องให้ผู้ป่วยกรณีที่ทราบโรคแล้ว

สมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องอัลตร้าซาวดน์ช่วยนำร่องการเจาะดูดน้ำออกจากช่องท้อง แพทย์จะใช้ความคุ้นเคยของตำแหน่งของน้ำที่มักจะเจาะได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งข้างๆลำตัว โดยฉีดยาชา แล้วค่อยๆสอดเข็มเล็กๆที่ต่อกับกระบอกฉีดยา สอดผ่านผิวหนังเข้าไปที่ละน้อยพลางก็ออกแรงดูดไปด้วย พอปลายเข็มเข้าถึงระดับน้ำในท้องแล้วก็หยุดดันเข็ม พยายามคาเข็มให้อยู่นิ่งไม่เลื่อนตำแหน่งและดูดน้ำออก ในปริมาณที่้ต้องการ วิธีดั้งเดิมนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาเจาะโดนอวัยวะในช่องท้องมากเท่าไร แต่ว่ากรณีที่ปริมาณน้ำน้อยๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่เข็มจะเจาะโดนอวัยวะภายในได้ง่าย


สมัยก่อนไม่มีอุปกรณืภาพนำร่อง ตำแหน่งกากบาทคือตำแหน่งทีมักเจาะน้ำในช่องท้อง
แพทย์จะใช้การเคาะฟังเสียงโปร่งทีบพิจารณาว่ามีน้ำอยู่ภายใต้ผนังช่องท้องลงไปหรือไม่แล้วจึงลงมือเจาะ
หลังจากนั้นแพทย์จะสอดเข็มที่ต่อกับหลอดฉีดยาเพื่อค่อยๆสอดลงไปพลางก็ดูดหลอดฉีดยาเพื่อดูว่าถึงระดับน้ำหรือยัง

แต่ในปัจจุบัน มีเครื่องมือนำวิถีคือ อัลตร้าซาวดน์ โดยเมื่อแพทย์วางหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์ลงสัมผัสผิวหนังหน้าท้องผู้ป่วยบริเวณใด จอแสดงผลก็จะแสดงให้เห็นภาพของส่วนที่อยู่ลึกลงไปว่าเป็นอวัยวะใด และยังสามารถเห็นเข็มที่สอดเข้าไปได้อีกด้วย จึงทำให้การสอดเข็มเข้าช่องท้อง ไม่ผิดพลาด ไม่เกิดการแทงโดนอวัยวะภายในอย่างแน่นอน วิธีนี้แม้มีน้ำปริมาณน้อยๆ ก็สามารถเจาะได้โดยปลอดภัย

การสอดเข็มเข้าไปในช่องท้องเพื่อเจาะดูดน้ำผ่านกการนำวิถีด้วยอัลตร้าซาวดน์ทำให้แพทย์มองเป็นทิศทางและตำแหน่งของเข็มอย่างทันที (realtime) ทำให้มั่นใจได้มากขึ้น
เมื่อดูภาพบนจอแสดงผลของเครื่องอัลตร้าซาวนด์แพทย์จะเห็นเข็ม (ลูกศรชี้ที่เข็ม) ผ่านจากผิวหนังเข้ามาอยู่ในช่องท้องที่มีน้ำ (สีดำสนิท) และเข็มไม่ได้แทงโดนลำไส้ จึงมันใจได้ว่าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน

จะเห็นว่าเครื่องมือภาพและอุปกรณ์เจาะในปัจจุบันได้ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยปลอดภัยและสะดวกมากขึ้นจริงๆครับ


ดูบทความอื่นๆ กลับไปยังหน้า สารบัญบทความ

อย่าลืม กด like หน้าเพจ หมอรัฐวัชร์ในเฟสบุ๊คนะครับ ขอบคุณครับ

การใช้อัลตร้าซาวนด์นำวิถีช่วยการดูดน้ำจากช่องอก

ลองทายดูสิครับว่า ตัว "B" ในภาพดังต่อไปนี้เป็นส่วนของอะไร
รูปที่ 1 แสดงช่องในทรวงอก A = ปอดกลีบขวาที่หดเล็กลงเนื่องจากน้ำในช่องอกมากขึ้นผิดปกติ B = น้ำในช่องอกมากขึ้น C = น้ำในช่องอกระดับปกติเห็นเป็นแค่ฟิล์มบางๆเคลือบรอบๆปอด D = ปอดกลีบซ้ายที่ขยายตัวเต็มที่ตามปกติ

ถูกต้องแล้วครับ ส่วนที่ชี้ว่า "B" นั้นคือ น้ำในช่องอก (Pleural effusion อ่านว่า พลู-รัล-เอฟ-ฟิว-ชั่น) นั่นเอง

แต่ทำไมข้างขวาถึงมีน้ำในช่องอก เยอะกว่าข้างซ้ายละ? (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)
โดยปกติน้ำเวลาปอดขยายเต็มที่ (ลูกศรชี้ตำแหน่ง D) ช่องอกซึ่งบรรจุปอดอยู่จะแคบมีน้ำฉาบอยู่น้อยมากเพียงแค่นี้เอง(ลูกศรชี้ตำแหน่ง C)
แต่เมื่อเกิดความผิดปกติที่ทำให้มีน้ำในช่องอกมากขึ้น (ลูกศรชี้ตำแหน่ง B) จะดันให้ปอดเล็กลง (A) 

ความผิดปกติอะไรบ้างละ ที่ทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องอก?
สาเหตุมีมากมาย ตั้งแต่ภาะหัวใจล้มเหลว โรคไตเสื่อมการทำงาน โรคตับวาย การอักเสบของปอด หรือเยื่อหุ้มปอด มะเร็งต่างๆ เป็นต้น

มีอาการอะบ้างที่เตือนว่าจะมีน้ำในช่องอกเพิ่มขึ้น?
อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งเจ็บหน้าอก หายใจอีดอัด เหนื่อย ดังนั้นการวินิจฉัยด้วยอาการอย่างเดียวจะไม่แน่นอน

วิธีพิสูจน์อะไรยืนยันว่ามีน้ำในช่องอก?
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและส่งตรวจเอกซเรย์ทรวงอกเป็นอันดับแรก ในกรณีที่ยังไม่แน่ชัดจะส่งตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นความถี่สูง (อัลตร้าซาวดน์ [Ultrasound])

เมื่อพบน้ำในช่องอกมีวิธีดูแลอย่างไร?
แพทย์ที่ดูแลคุณจะเป็นผู้บอกกับคุณเองว่า เมื่อไรถึงจำเป็นต้องเอาน้ำในช่องอกออกมา
จุดประสงค์หลักๆของการดูดเอาน้ำออกจากช่องอก หลักๆ ก็คือ 

  1. เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในการวิเคราะห์โรค
  2. เพื่อระบายน้ำออกมากที่สุดช่วยลดอาการเหนื่อยของผู้ป่วย
  3. ทั้งสองอย่าง
แผนภาพแสดงหลักการระบายน้ำออกจากช่องอก A = เข็มที่สอดเข้าช่องอก B = ท่อยางยาวๆ ที่เชื่อมระหว่างเข็มกับภาชนะบรรจุน้ำในช่องอก C = ภาชนะรองรับน้ำในช่องอก

การเจาะดูดน้ำในช่องอกทำอย่างไรบ้าง?
วิธีการเจาะเอาน้ำออกจากช่องอกแบบดั้งเดิม ทำได้โดยผู้ป่วยนั่ง แพทย์อยู่ด้านหลังผู้ป่วย อาศัยประสบการณ์ของแพทย์จากการตรวจเคาะตามร่องซี่โครงว่าจุดไหนเสียงทีบก็น่าจะยังเป็นตำแหน่งที่เป็นน้ำ ระดับไหนที่เสียงเริ่มโปร่ง ก็จะเป็นปอดที่ขยายได้อยู่ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
แผนภาพแสดงการเคาะทดสอบเสียงตามร่องซี่โครงระดับต่างๆเพื่อหาตำแหน่งระดับน้ำในช่องอกเพื่อระบุจุดที่จะสอดเข็มได้เหมาะสม

ถ้าผู้ป่วยหนัก ลุกนั่งไม่ไหว และปริมาณน้ำในช่องอกน้อยๆละ ทำอย่างไรกัน?

โชคดีที่ปัจจุบัน เรามีเครื่องอัลตร้าซาวนด์ (เครื่องตรวจหาตำแหน่งของอวัยวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง)
พอวางหัวตรวจตรงตำแหน่งใด ภาพแสดงชั้นต่างๆของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นก็แสดงบนจอแสดงผลตามระดับความลึกเลย (คล้ายกับแสดงภาพชั้นของพื้นดินที่อยู่ลึกลงไปตรงตำแหน่งที่คุณยืน ประมาณนั้นแหละ)
ภาพแสดงการวางหัวตรวจอัลตร้าซาวนด์ลงบนผิวหนังส่วนอก แพทย์จะเห็นภาพเนื้อเยื้อส่วนที่ลึกจากชั้นผิวหนังลงไปเป็นระยะทางที่กำหนดไว้ แสดงผลบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องอัลตร้าซาวนด์

เมื่อเราแตะหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์บนผิวหนังทรวงอกของผู้ป่วย แพทย์ก็จะเห็นว่าลึกลงไปตรงนั้นเป็น น้ำในช่องอก หรือเป็นเนื้อปอดที่ไม่มีน้ำอยู่
ภาพจากจอแสดงผลของเครื่องอัลตร้าซาวนด์แสดงให้เห็นน้ำในช่องอกด้านขวา (E) 

หากลึกลงไปตรงนั้นเป็นบริเวณที่เหมาะสมจะสอดเข็มเข้าไปดูดน้ำออกมาได้ แพทย์จะแต้มน้ำหมึกที่ลบออกยากทำเครื่องหมายบนผิวหนังและ เตรียมตัวสอดเข็มเข้าตำแหน่งนั้น

แต่ถ้าจะให้แน่นอนกว่านั้นยิ่งขึ้น ก็วางหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์สัมผัสผิวหนังส่วนนั้นไว้ด้วยมือของแพทย์ข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็ค่อยๆสอดเข็มเข้าไป ผ่านการมองเห็นบนจอแสดงผล แพทย์จะได้เห็นเข็มค่อยๆเดินทางลึกลงไปๆ ถึงชั้นของน้ำในช่องอกได้อย่างทันตาเห็น (real time อ่านว่า เรียล ไทม์)
ภาพแสดงการสอดเข็มพร้อมกับอัลตร้าซาวนด์ตรงจุดที่ต้องการเพื่อให้เห็นทางเดินของเข็มเข้าไปยังเป้าหายตลอดเวลา
ภาพบนจอแสดงผลอัลตร้าซาวนด์ แสดงให้เห็นเข็ม (ลูกศรสีฟ้า) ผ่านจากด้านขวา ปลายไปอยู่ทางซ้ายเข้าไปอยู่ในช่องอกด้านขวาที่มีน้ำอยู่



การมีเครื่องมือช่วยให้เห็นภาพร่างกายแบบ real time นี่เองทำให้พลิกโฉมเทคนิคในการเจาะดูดน้ำในช่องอกให้ทำได้ง่าย ปลอดภัย มากขึ้นจริงๆครับ

การเตรียมตัวรับการเจาะ ทำอย่างไร?
โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวพิเศษแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำเพื่อการเจาะนี้ 
แพทย์จะตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีโรคที่เสียเลือดง่าย เลือดหยุดช้าหรือไม่ หรือรับประทานยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าหรือไม่ ถ้าเกรงว่าไม่ปลอดภัยแพทย์จะระงับการเจาะไว้ก่อน แก้ไขภาวะเลือดหยุดช้าให้ได้ก่อนจะเจาะในภายหลัง

ระหว่างเจาะเป็นอย่างไรบ้าง?
โดยทั่วไปมีขั้นตอนพอสังเขปดังนี้

  • หาตำแหน่งสอดเข็มที่เหมาะสม
  • ทำความสะอาดผิว
  • ฉีดยาชาเพื่อลดอาการเจ็บ
  • สอดเข็มเข้าในน้ำช่องอก
  • ดูดหรือต่อสายระบายน้ำออกจากร่างกายลงภาชนะบรรจุ
  • ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์สะอาด


หลังการเจาะต้องดูแลตนเองอย่างไร?
หลังการเจาะแพทย์จะทำเอกซเรย์ทรวงอกให้เพื่อ
ตรวจสอบแน่ใจว่าไม่ภาวะลมรั่วคั่งในช่องอก
เปรียบเทียบระดับน้ำในช่องอกกับภาพก่อนการเจาะ
ภาพเปรียบเทียบเอกซเรย์ทรวงอก ก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) การเจาะน้ำออกจากช่องอกด้านขวา 1 ลิตร คุณจะสังเกต น้ำ(สีทีบขาว) หลังการเจาะน้อยกว่าก่อนเจาะ

แผลที่เกิดจากรูเข็มและปิดพลาสเตอร์ไว้จะปิดสนิทภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์คลุมแต่อย่างใด
ผู้ป่วยน้อยรายมากที่ระดับการปวดถึงขั้นต้องรับประทานยาบรรเทาปวด

สรุป
ภาวะน้ำในช่องอกเพิ่มขึ้นผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องเจาะทุกราย หากทราบสาเหตุอยู่ก่อนแล้วและผู้ป่วยไม่ได้มีอาการเหนื่อยจากปอดหดแฟบลง แต่หากจำเป็นต้องเจาะไปเพื่อหาสาเหตุหรือต้องระบายเพื่อลดอาการผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างปลอดภัยด้วย เทคนิคการนำร่องด้วยอัลตร้าซาวดน์

กลับสู่หน้า สารบัญบทความ