การชะลอและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)


รักษาข้อเข่าเสื่อมแต่เนิ่นๆดีกว่า หากคุณอยู่ระยอง มาที่บีอาร์เอ็กซ์จีสหคลินิก โทร. 033060399 อ่านข้อมูลข้อเข่าเสื่อมด้านล่างได้เลย
รู้ได้อย่างไร ว่าอาการปวดเข่าเป็นจากโรคข้อเข่าเสื่อม?

อาการของข้อเข่าเสื่อมจะต้องค่อยๆปวดจากน้อยไปหามากใช้เวลาหลายๆปี 

อาการระยะต้น 

ผู้ป่วยจะยังไม่ปวดเข่า อาจพบเสียงดังขณะขยับเข่า หรือเวลาพักนานๆหรือหลังตื่นนอนเข่าจะฝืด  เคลื่อนไหวลำบาก แต่พอได้ขยับสักครู่ก็จะเดินได้ปกติ 

อาการระยะกลาง 

อาการปวดจะเริ่มชัดเจนขึ้น อาจปวดทุกวันแต่ไม่รุนแรง บางครั้งต้องใช้ยาแก้ปวด หรืออุปกรณ์สนับเข่าช่วยบรรเทาอาการ

ระยะรุนแรง 
อาการปวดมากและสม่ำเสมอ ผู้ป่วยเดินได้น้อยลงจากปกติ เพราะรู้สึกปวดจนไม่อยากเดินต่อหรือกลัวล้ม ไม่สามารถนั่งคุกเข่า หรือนั่งกับพื้นท่าอื่นๆ ได้ มีความผิดรูปของข้อเข่า เช่น เข่าโก่ง

พยาธิสภาพของโรคของเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร?
การเสื่อมของข้อเข่าเป็นไปตามวัยอยู่แล้ว หากแต่ถ้ามีการบาดเจ็บ ใช้งานหนัก การเสื่อมก็เกิดเร็วกว่าปกติ
เริ่มแรกการเสื่อมจะเกิดที่ชั้นผิวสัมผัสของข้อซึ่งเป็น กระดูกอ่อน โดยกระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกแข็งเริ่มบางลงและแตกร้าวดังรูป
ข้อเข่าขวาปกติ: กระดูกอ่อน (สีฟ้า) เรียบ หมอนรองกระดูก (สีชมพู)เรียบ
 กระดูกระหว่างข้อ (สีน้ำตาล) ปกติ

ข้อเข่าขวาเสื่อมระยะแรก: หมอนรองกระดูกบาง กระดูกอ่อนเริ่มมีรอยแตกร้าว เริ่มมีกระดูกงอก


ข้อเข่าขวาเสื่อมระยะกลาง หมอนรองกระดูกบาง แตก กระดูกอ่อนมีรอยแตกมากขึ้น ช่องว่างระกว่างกระดูกเข่าแคบลง กระดูกงอกเพิ่มขึ้น มีซิสต์เกิดขึ้นในกระดูก
ข้อเข่าขวาเสื่อมมาก: หมอนรองข้อเข่าสลายเกือบหมด กระดูกอ่อนถูกทำลายมากทำให้ข้อเข่าแคบมากขึ้นจนเกือบจะเชื่อมต่อกัน กระดูกงอกเกิดขึ้นมาก เกิดซิสต์ในกระดูกมากขึ้น

การยืนยันวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อม
  • อาศัยอาการ การตรวจร่างกายและภาพถ่ายเอกซเรย์
    ภาพถ่ายรังสีข้อเข่าข้างขวา: ภาพ A แสดงข้อเข่าปกติ จุดที่เป็นช่องว่างระหว่างข้อต่อกระดูกเป็นส่วนของกระดูกอ่อนเห็นเป็นช่องว่างสีเทาดำ (ลูกศรสีฟ้า) กระดูกผิวเรียบ ไม่มีกระดูกงอก ภาพ B ช่องว่างระหว่างกระดูกแคบ (ูลูกศรสีน้ำตาล และขอบกระดูกมีสีขาวทึบเข้มและผิวกระดูกขรุขระแสดงถึงบริเวณกระดูกงอก (ลูกศรสีแดง)

การรักษาข้อเข่าเสื่อมระยะที่ยังไม่ต้องผ่าตัด
การดูแลทั่วไป
  • ลดน้ำหนัก
  • บริหารกล้ามเนื้อ (ดูคลิปนี้ ยืดเหยียดน่อง ลดอาการปวดเข่า
  • ออกกำลังกาย แนะนำ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายที่ควรหลีกเลี่ยง คือ วิ่ง สควอต แบตมินตัน เทนนิส 
การแก้อาการปวด
  • ประคบความเย็น
  • รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล เป็นยาเหมาะสม 
  • ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยาชนิดรับประทานในคนสูงอายุ อาจมีผลเสียต่อการทำงานของไตและระคายเคืองทางเดินอาหาร หากใช้ยากลุ่มนี้ควรใช้ในรูปแบบทาภายนอกจะปลอดภัยกว่า
  • การรับประทาน กลูโคซามีน (ยังให้ผลไม่แน่ชัด)
  • การฉีด สเตอรอย์เข้าข้อเข่า ให้ผลบรรเทาปวดในระยะสั้น 
  • การฉีดน้ำไขข้อเทียมเข้าข้อเข่า (Hyaluronic acid) พบว่าช่วยลดการปวดและเพิ่มการทำงานข้อเข่าได้ดีนานถึงหกเดือน
การเลือกวิธีการบรรเทาปวดใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจะดีที่สุด ไม่ควรเลือกเองซึ่งอาจส่งผลให้ไม่ได้ผลแล้วอาจได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาได้

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง

  • อุปกรณ์ดามเข่า (Knee brace)
  • ไม้เท้า (cane)
  • Walker

เข่าเสื่อมมากแค่ไหน ถึงต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

จากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่าอาการเข่าเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ ซึ่งมักพบได้ตั้งแต่คนวัย 60 ปี ขึ้นไป  โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาเข่าเสื่อมด้วยวิธีผ่าตัด ได้แก่

  • ปวดมาก หรือปวดตลอด จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ และบางรายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้

  • เดินลำบากจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ หรือช่วยประคองเดิน ไม่เช่นนั้นอาจหกล้มได้

ในขณะเดียวกันมีผู้ป่วยเข่าเสื่อมจำนวนหนึ่งซึ่งแม้ไม่มีอาการปวดรุนแรง แต่ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องการได้โดยสะดวก เช่น เล่นกีฬา ท่องเที่ยว ซึ่งบางคนอาจเลือกการผ่าตัดรักษาเพื่อให้กลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม

การผ่าตัด มีเทคนิคการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมหลายแบบและอุปกรณ์เข่าเทียมก็ออกแบบมาหลายรูปแบบมาก แต่ก็มีหลักการทั่วไปดังภาพ

ภาพข้อเข่าเทียม

สรุป

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคความเสื่อมซึ่งต้องค่อยๆเกิดขึ้นตามวัยที่สูงขึ้น แต่ใครจะชะลอการเสื่อมของข้อเข่าให้อยู่นานที่สุดได้ จำเป็นต้องทราบวิธีถนอมข้อเข่า และหากเข่าเริ่มเสื่อมแล้วจะต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเริ่มการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์ให้เข่าเสื่อมช้าลง เพราะหากปล่อยให้เข่าเสื่อมมากจนปวดตลอดเวลาแล้ว อาจจะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัด



กลับสู่สารบัญบทความ

รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ จากออฟฟิศซินโดรม อย่างไหนดี?

ภาพแสดงการปวดกล้ามเนื้อสะบักข้างซ้าย

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ อะไร?

  • ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) หรือ ไมโอฟาสเชียลเพนซินโดรม (Myofascial pain syndrome) คือ กลุ่มโรคของอาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่เป็นผลมาจากจุดกระตุ้น (Trigger point) ที่อยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด
  • พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 30-60 ปี
จุดกระตุ้น หรือ Trigger point คืออะไร?

ภาพแสดงจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) รูปซ้าย: Trigger point (สีเขียว) ในกล้ามเนื้อ ขวา: ภาพขยายลำกล้ามเนื้อที่มีจุดคลำได้แข็งๆภายใน เรียกว่า ทอทแบนด์ (taut band) เมื่อขยายภายในลำทอทแบนด์ จะเห็นใยกล้ามเนื้อบางจุดที่หดเกร็งตลอดเวลาโดยไม่คลายตัวปะปนอยู่กับใยกล้ามเนื้อปกติ

  • เป็นจุดกดเจ็บบนลำกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อซ้ำๆที่ตำแหน่งเดิม จุดนี้บนลำกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้หดเกร็งซ้ำๆตลอดเวลา สังเกตได้ว่าคลำเป็นก้อนแข็งๆ เรียกว่า ทอทแบนด์ (taut band) ถ้าขยายส่วนนี้ออกมาก็จะเห็นใยกล้ามเนื้อบางจุดหดเกร็งเป็นปมตลอดเวลา ซึ่ง taut band นี้จะเป็นจุดที่ถูกกดสามารถกระจายความเจ็บไปเป็นบริเวณกว้างได้

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม คือ อะไร?


  • อะไรก็ตามทำให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำๆเป็นเวลานานๆ เช่น คนที่ทำงานอยู่ท่าเดิมนานๆ หรือเคยชินกับท่าทางบางอย่างที่เกร็งกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ต่อเนื่อง มีโอกาสกระตุ้นให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้
ลักษณะการปวดของออฟฟิศซินโดรม เป็นอย่างไร?
  • จะมีบริเวณที่เจ็บบริเวณกว้างตามตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซึ่งจะมีจุดกระตุ้นหนึ่งแห่งที่เป็นจุดที่กดแล้วจะปวดร้าวไปบริเวณกว้าง และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ผิวหนังเย็นซีด น้ำตาไหล คัดจมูก ขนลุก เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หูอื้อ
  • ตัวอย่างตำแหน่งออฟฟิศซินโดรมจุดกำเนิดที่คอ แล้วปวดร้าวไปยังศีรษะ ดังรูป

ภาพแสดงออฟฟิศซินโดรม ที่กล้ามเนื้อคอ ร้าวไปยังศีรษะ บริเวณกากบาทสีดำคือจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) บริเวณพ่นสีแดง แสดงบริเวณมักจะมีอาการปวดร้าวไปถึง บริเวณจุดสีแดงคือบริเวณที่ปวดร้าวทีพบน้อยกว่า
  • ตัวอย่าง trigger point บริเวณสะบักและต้นแขน
    Trigger point บริเวณสะบักและต้นแขน บริเวณกากบาทสีดำคือจุดกระตุ้นความเจ็บ (trigger points) บริเวณพ่นสีแดง แสดงบริเวณมักจะมีอาการปวดร้าวไปถึง บริเวณจุดสีแดงคือบริเวณที่ปวดร้าวที่พบน้อยกว่า
นี่คือจุดกระตุ้นการเจ็บ (Trigger points) ที่พบบ่อยๆ
ภาพจุดกระตุ้นการเจ็บ(trigger points)ที่พบบ่อย

วิธีรักษา ออฟฟิสซินโดรม
 หลักการของทุกวิธีคือ ลดปวด คลายล็อคจุดกระตุ้น (trigger point) และยืดกล้ามเนื้อ ทุกวิธีผู้ป่วยต้องกลับไปยืดกล้ามเนื้อทุกวันเหมือนกันหมด (เรียงลำดับจากค่ารักษาน้อยไปถึงมาก)
  • รับประทานยาแก้ปวด รับประทานทุกวันแล้วยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้จุดกระตุ้นที่หดตัวคลายตัววันละนิดวันละหน่อย จะเริ่มวิธีนี้ก่อนก็ได้ แต่เราไม่สามารถรับประทานยาติดต่อกันนานกว่าหนึ่งเดือนได้อาจเป็นอันตรายต่อไตหรือตับ ดังนั้นหากยังไม่หายในหนึ่งเดือน ควรมองหาวิธีต่อไป (ค่าใช้จ่าย 100-500บาท)
  • การสปรย์ยาชา ตามด้วยยืดกล้ามเนื้อ แต่ยาชามีฤทธิ์ลดปวดนานเพียงสิบนาที จึงต้องสเปรย์บ่อย การหายต้องขึ้นกับการยืดกล้ามเนื้อ (ค่าใช้จ่าย 400-600 บาท)
  • การปักเข็มเข้า trigger point เรียกว่า Dry needling โดยแพทย์ปักเข็มเข้าจุดกระตุ้น ผู้ป่วยจะเจ็บจากเข็มแทง หากเข็มเข้าไปตรงจุดกระตุ้น เข็มจะทำให้จุดกระตุ้นในกล้ามเนื้อคลายตัวได้เลย แล้วให้ผู้ป่วยออกกำลังขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นสักพัก ผู้ป่วยจะเจ็บจากรอยเข็มแทงอยู่สักสามสี่วันอาการปวดจะหายไป (1,500-2,000 บาท)
  • การฉีดยาชาเข้า trigger point โดยแพทย์ฉีดยาชาหรือผสมยาแก้อักเสบฉีดเข้าจุดกระตุ้น แล้วบริหารกล้ามเนื้อ  วิธีนี้ถ้าฉีดโดนตรงจุดกระตุ้นแล้ว อีกสามนาทีผู้ป่วยจะหายปวดร้าวทันที แสดงว่าเป็นโรคออฟฟิสซินโดรม จริง ถือเป็นการวินิจฉัยไปในตัว หลังฉีดก็ให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อแต่พอดี ไม่ต้องถึงกับยืดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยปวดจากรอยแทงเข็มเล็กน้อยอยู่สามสี่วันก็หาย (1,500-2,000 บาท) 
    การฉีดยาเข้า จุดหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

    การใช้อัลตร้าซาวด์ให้เห็นภาพกล้ามเนื้อที่จะฉีดยาช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดโอกาสเกิดภาวาแทรกซ้อน

  • การนวดกดจุดและยืดกล้ามเนื้อ  จะทำในรายที่กลัวเข็ม ต้องนัดนวดหลายครั้ง อาการปวดค่อยๆลดลงทีละน้อย การหายหรือไม่ก็ต้องขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ตัวผู้ป่วยเอง ตัวผู้ทำการรักษา (2,800-3,600 บาท)
  • กายภาพบำบัดและยืดกล้ามเนื้อ จะใช้เครื่องมือบำบัดอาการปวดหลายชนิด จึงลงทุนสูง ต้องนัดทำหลายๆครั้ง อาการปวดจะค่อยๆลดลงทีละน้อย  (4,000-10,000 บาท)

ทุกวิธีสามารถรักษาอาการปวดได้ผลทั้งหมด
ถ้าอยากหายปวดเร็ว ควรเลือกการปักเข็มหรือการฉีดยาเข้าจุดกระตุ้น ยิ่งปัจจุบันที่เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยนำทางให้เห็นแนวและตำแหน่งของเข็มแล้ว ยิ่งฉีดได้แม่นยำและหลีกเลี่ยงอวัยวะที่สำคัญได้ ยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วยขึ้น แถมเพิ่มโอกาสหายภายในครั้งเดียวมากขึ้น (สำหรับ Dr. Rattawach จะถนัดวิธีนี้)
ถ้ากลัวเข็ม ควรเลือกการนวดหรือกายภาพบำบัดซึ่งจะลดปวดอย่างช้าๆและยาวนานจึงมีค่ารักษาสูง
ถ้าต้องการวิธีประหยัด จะเลือกสเปรย์ยาหรือรับประทานยาก็ได้ แต่จะต้องขยันยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่แน่ใจว่าสาเหตุการปวดมาจากโรคอะไร ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนจะเลือกการรักษาจึงจะปลอดภัยสำหรับคุณ

ติดต่อ หมอรัฐวัชร์ ได้ที่ บีอาร์เอ็กซ์จีโพลีคลินิก โทร. 033060399
ตามแผนที่นี้ https://1th.me/YdWGp