|
มะเร็งก่อตัวในลำไส้ใหญ่ฝั้งซ้าย |
มะเร็งลำไส้ใหญ่สำคัญไหม?
พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆในคนทั่วโลก เป็นมะเร็งอันดับสองในชายไทยและอันดับสามในหญิงไทย หากรอจนพบอาการก้อนมะเร็งมักจะกระจายไปทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระเแสเลือดแล้ว (แต่ตาเปล่าไม่เห็น) และมันค่อนข้างดื้อต่อยาเคมีบำบัด
อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอย่างไร?
ขอให้ดูแผนภูมิอันนี้เป็นการอ้างอิงจาก งานวิจัย
จากแผนภูมินี้สรุปได้ย่อๆว่าดังนี้
มะเร็งระยะที่หนึ่ง อัตรารอดชีวิต เมื่อผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 74.0
มะเร็งระยะที่สอง อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 37.3ถึง 66.5
มะเร็งระยะที่สาม อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 28.0ถึง 73.1
มะเร็งระยะที่สี่ อัตรารอดชีวิต เมือผ่านไป 5 ปี เท่ากับ ร้อยละ 5.7
แต่โชคร้าย ผู้ที่มีอาการแสดงและมาพบแพทย์มักจะอยู่ในระยะที่สามและสี่
ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไหม?
แม้ว่าคุณจะควบคุมอาหาร ไม่กินไขมัน รับประทานกากใยมาก ระวังไม่ให้ท้องผูก รวมทั้งสารพัดอาหารต้านมะเร็ง ฝึกจิตใจไม่ให้เครียด เพื่อให้โอกาสเกิดมะเร็งลดลง แต่คุณอย่าเข้าใจผิดว่าจะไม่เป็นแน่นอน ไม่มีบทความวิจัยใดๆที่บอกว่าการป้องกันมะเร็งด้วยวิธีเหล่านี้จะป้องกันมะเร็งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
เฝ้าระวังอาการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไหม?
การเฝ้าระวังอาการแสดงของมะเร็งนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีเลย เพราะไม่ได้ทำให้อัตรารอดชีวิตของเราดีขึ้น ถ้ารอให้มีอาการก็นับวันบอกอัตรารอดตัวเองเท่านั้นเองว่า ภายใน 5 ปีจะเสียชีวิตไปกี่คน
ทำอย่างไรจึงจะค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เร็วที่สุด?
เนื่องจากกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่พัฒนาจากเซลล์ผิดปกติมาเป็นติ่งเนื้อก่อนและจะค่อยๆโตขึ้นเป็นก้อนโตจนมีอาการใช้เวลาประมาณ 5 ปี
จนถึงปัจจุบันนี้การค้นหามะเร็งระยะแรกที่ทำได้เร็วที่สุดแล้วก็คือ ระยะที่เป็นติ่งเนื้อ (Polyp) ไม่ใช่การตรวจสารเอนไซม์ CEA (carcinoembryonic antigen) ในเลือดซึ่งจะตรวจพบได้ช้ากว่า
|
ภาพการพัฒนาจากเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ปกติ (ซ้ายสุด) กลายเป็นการหนาตัว (ที่สองจากซ้าย) เริ่มเป็นติ่งเนื้อ (ภาพกลาง) ติ่งเนื้อใหญ่ขึ้น (ภาพที่สี่) และติ่งเนื้อเริ่มเปลี่ยนเป็นมะเร็ง(ขวาสุด) |
|
วิธีตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นที่เป็นที่ยอมรับทางแพทย์มีอะไรบ้าง?
การคัดกรองที่ได้ผลดีที่สุดคือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพราะว่าสามารถเห็นลำไส้ใหญ่ตลอดทั้งแนวและสามารถตัดติ่งเนื้อไปพิสุจน์ว่าเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้จึงต้องยอมรับการตรวจทางเลือกอื่นๆเข้ามาด้วย แล้วจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ลองพิจารณาแต่ละวิธีดังนี้
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy)
|
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสอดท่อซึ่งปลายท่อติดกล้องวิดีโอทำให้เห็นเยื่อบุภายในตลอดลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถสอดเครื่องมือสำหรับตัดเนื้อเยื่อจากรอยโรคที่สงสัยไปตรวจพิสุจน์ได้อีกด้วย |
- จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
- จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
ผู้รับการตรวจต้องหยุดพักงานหนึ่งวันและต้องมีบุคคลมาด้วยเพื่อนำผู้ป่วย
กลับเพราะหลังตรวจเสร็จยานอนหลับยังไม่หมดฤทธิ์ทันที
- มีความเสี่ยงจากการส่องกล้องได้ เช่น สำไส้ทะลุ เลือดออกจากลำไส้ ส่วนใหญ่เลือดออกจากการที่แพทย์ตัดเนื้องอกไปตรวจ
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (flexible sigmoidoscopy)
- จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
- ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
- ส่องดูลำไส้ได้เฉพาะส่วนปลายในระยะทาง 40 เซนติเมตร
- หากส่องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
|
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) ปลายท่อส่องเพียงความลึก 40 เซนติเมตร |
การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยสวนสารแบเรียม (Double contrast barium enema)
- จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
- ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
- ถ้าหากพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมลำไส้ใหม่อีกรอบหนึ่ง
- มีความไวในการพบติ่งเนื้อตั้งแต่ขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไป
- โอกาสลำไส้ทะลุต่ำมากๆ
|
การเอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนน้ำผสมผงแบเรียมซัลเฟต (Barium Enema) ปลายท่อคาอยู่ที่ไส้ตรงเท่านั้นและปล่อยให้ของเหลวสวนย้อนไปถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและกล้องเอกซเรย์จากภายนอกแสดงภาพบนจอมอนิเตอร์ |
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (Computed Tomography Colonography)
- จำเป็นต้องใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง
- ต้องมีซอฟแวร์สำหรับสร้างภาพลำไส้ใหญ่
- จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ด้วยยาระบายและรับประทานอาหารไร้กากใย 2 วัน
- ไม่จำเป็นต้องได้รับยานอนหลับทางหลอดเลือดดำ
- หากพบเนื้องอกจำเป็นต้องตรวจต่อไปด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมลำไส้ใหม่อีกรอบหนึ่ง
- มีความไวในการพบติ่งเนื้อขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป
- โอกาสลำไส้ทะลุต่ำมากๆ
|
การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonography) ผู้ป่วยนอนบนเตียงของเครื่องตรวจ หลังจากสวนลมเข้าทางทวารผ่านท่อยางเล็กๆแล้ว เครื่องสแกนส่วนช่องท้องในท่านอนหงายหนึ่งครั้งและท่านอนคว่ำหนึ่งครั้งผู้ป่วยก็ลงจากเครื่องได้ รังสีแพทย์จะตรวจเช็คภาพหาความผิดปกติผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์เอง |
|
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงภาพภายในลำไส้ได้หลายมุมมอง เช่นมุมมองแบบเห็นลำไส้คลี่แบน (ภาพซ้าย) มุมมองภาพตัดขวาง (ภาพกลางขาวดำ) หรือมุมมองแบบส่องกล้อง(flythrough) |
การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Guaiac-based Fecal Occult Blood Test (gFOBT) ที่ระบุความไวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เทคนิคการตรวจขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตสารทดสอบ โดยส่วนใหญ่จะต้องเก็บอุจจาระสองถึงสามรอบที่บ้านเพื่อนำมาส่งตรวจ
- ผู้ป่วยต้องทราบว่าถ้าผลตรวจเป็นบวกหมายถึงผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงที่เกิดเนื้องอกที่ค่อนข้างจะกลายเป็นมะเร็งแล้วหรือเป็นมะเร็งโดยสมบูรณ์แล้ว
- หากผลตรวจเป็นลบ จำเป็นต้องตรวจซ้ำทุกปี
- ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจว่าตรวจครั้งเดียวนั้นไร้ประสิทธิผล
การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) ที่ระบุความไวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีความไวและเฉพาะเจาะจงกว่าวิธี gFOBT
- ราคาแพงกว่า วิธี gFOBT
- จำเป็นต้องตรวจทุกปี
การตรวจมีหลายวิธีจะเลือกอย่างไร?
- ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตาม ความสามารถในการจ่าย (เพราะไม่ฟรี), บริการที่มีอยู่ใกล้ชุมชนของคุณ, ความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของคุณ (บางคนกลัวการสวนทวารโดยผู้อื่น)
- ปรึกษาแพทย์ใกล้ตัวคุณเพื่อหาวิธีที่เหมาะกับคุณ
ควรเริ่มตรวจเมื่อใด?
- สำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงมาก เริ่มที่อายุ 50 ปี
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ ได้แก่บุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคประจำตัวเป็นลำไส้อักเสบชนิด chron disease หรือ ulcerative coliitis ควรตรวจเร็วที่อายุ 40 ปี
ความถี่ในการตรวจเป็นอย่างใด?
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก 10 ปี
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
- การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยสวนสารแบเรียม (Double contrast barium enema) ทุก 5 ปี
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (Computed Tomography Colonography) ทุก 5 ปี
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี gFOBT หรือ FIT ทุก 1 ปี
เลือกตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมแต่ละคน
สรุป
มะเร็งลำไส้ใหญ่กำลังเป็นมะเร็งอันดับต้นที่คร่าชีวิตคนไทยไปด้วยเหตุที่เรารอให้มีอาการแสดงก่อนจึงมาพบแพทย์และไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นซากไปได้
หากต้องการให้อัตราการตายจากมะเร็งนี้ลดลง นอกเหนือจากแนวทางป้องกันการเกิดมะเร็งทั่วไปแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งให้พบในระยะเริ่มต้นจะรักษาได้ผลดี แต่อุปสรรคของการคัดกรองคือ เป็นการตรวจที่ค่อนข้างยุ่งยากและขาดแคลนผู้เชียวชาญเพียงพอที่จะตรวจได้ทุกคนและที่สำคัญ ผู้ที่รับการตรวจยังต้องมีความตระหนักอย่างสูง และมีความพร้อมด้านการเงิน
กลับ หน้า สารบัญบทความ
Link พัฒนาตนเอง
1. แนวทางพัฒนาการคิด
2. กด like ให้drrattawach fanpage